ขอให้พรุ่งนี้ไม่ซวยไปมากกว่านี้: เมื่อเราต้องไปถ่าย Wildlife ที่เขาใหญ่ ตอนที่1

 

เรื่อง และ ภาพ: ณัฐวรีย์ ฐิตวัฒนะสกุล

เรื่องทั้งหมดมันเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม เมื่ออาจารย์ประจำวิชาภาพถ่ายสั่งการบ้านให้ไปถ่ายภาพชุดโดยไม่จำกัดหัวข้อ ซึ่งเราเองก็เลือกหัวข้อภาพถ่ายสัตว์ป่าหรือ Wildlife Photography เพราะเราก็ไม่เคยถ่าย Wildlife มาก่อน จะได้ (หาทำ) ท้าทายตัวเองด้วย

ถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตอนนั้น จะไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่ แต่เราก็จะต้องทำงานนี้ให้ทันส่งตรงเวลา  มองอีกมุมหนึ่งคือเชื้อไวรัสโควิดทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงค่อนข้างมาก เมื่อคนน้อยลง สัตว์ก็กล้าออกมาเดินโชว์ตัวมากขึ้น ก็โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีบ่อย ๆ ต้องรีบตักตวงเอาไว้

            *ขณะที่ถ่าย สถานการณ์โควิดยังไม่น่าสะพรึงเท่าในปัจจุบัน ตอนนี้เราขอแนะนำให้ทุกคนระวังตัวเองไว้ดีที่สุดค่ะ

พูดถึงเรื่องโชค บอกเลยว่าทริปครั้งนี้ เราได้ซาบซึ้งกับมิตรภาพทั้งจากพี่ ๆ ที่รู้จักและคนแปลกหน้าที่เพิ่งรู้จักบนเขาใหญ่ ได้อัพสกิลการถ่ายรูปแบบก้าวกระโดด (เพราะกระโดดหนีเอฟ) ได้พบกับสัตว์ป่าเท่ ๆ อย่างนกเงือกหรือช้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่มี ไม่มีเลย แห้งสนิท คือเรื่อง “โชค” บอกได้เลยเรื่องบางเรื่องมันก็เกิดแค่กับใครบางคนเท่านั้น และใครคนนั้น -- คือฉันเองไงคะ!

ความซวยแรกเริ่มต้นจากการขับรถไปเขาใหญ่คนเดียวครั้งแรก Google Map ปักหมุดผิด หลังจากวนไปวนมาอยู่นาน 2 ชั่วโมง ทำให้เราไปถึงอุทยานช้ากว่ากำหนดและพลาดช่วงที่ฝูงนากใหญ่ขนเรียบออกมากินปลาในโซนกองแก้ว   2 ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการปักหลักรอนากที่โซนกองแก้ว แต่ก็ไม่มีวี่แววเลยแม้แต่น้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีโชคดีอยู่บ้างในนาทีสุดท้ายของวันสุดท้ายก่อนถอดใจกลับกรุงเทพฯ เพราะในขณะที่เรากำลังนั่งเฝ้านากที่เดิม เราก็ได้ยินเสียง “พรึ่บ ๆ ๆ ” มันคือเสียงเหยี่ยวกำลังบินวน พอเราเห็นก็ไม่รอช้ายกกล้องออกมากดชัตเตอร์อย่างไว ก่อนที่เหยี่ยวจะบินหายไปด้วยความรวดเร็ว

            ภาพเหยี่ยวตัวนี้กลายเป็นภาพแรกและภาพเดียวที่ได้จากการเดินทางในครั้งแรก....

ภาพเหยี่ยวตัวนี้กลายเป็นภาพแรกและภาพเดียวที่ได้จากการเดินทางในครั้งแรก

ภาพเหยี่ยวตัวนี้กลายเป็นภาพแรกและภาพเดียวที่ได้จากการเดินทางในครั้งแรก

ตั้งแต่นั้นเราก็มีแวะเวียนไปเขาใหญ่อีกหลายครั้ง หลังจากไปปรึกษาอาจารย์ประจำวิชา ปรึกษา “พี่กวิน” ซึ่งเป็นรุ่นพี่ในชุมนุม TU Photo ที่ไปเข้าป่า ขึ้นดอยเหมือนกับนักศึกษามธ. รังสิตไปฟิวเจอร์พาร์ค และไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถ่ายรูป Wildlife เราก็รู้สึกพร้อมมากขึ้นในการไปเก็บภาพและเหยียบคันเร่งไปเขาใหญ่ด้วยความมั่นใจที่มากขึ้น

            ครั้งนี้เรามาถึงอุทยานประมาณบ่ายโมงตามแผน แต่โชคชะตาก็ “แกง” เราอีก เมื่อเราไปถึงอ่างเก็บน้ำสายศร เราก็พบว่ามีตะปูตำยางรถยนต์รั่ว…

            ระหว่างที่กำลังขับรถไปร้านปะยาง เราก็เจอกลุ่มช่างภาพมืออาชีพที่มีเลนส์ปืนใหญ่กำลังรวมกลุ่มถ่ายอะไรสักอย่างบริเวณวังจำปี เราก็รู้ได้ทันทีเลยว่า ถ้าปะยางเสร็จเราก็ต้องมาตรงนี้แหละ!

เมื่อกลับมาที่จุดนี้อีกครั้งเราจึงไปสมทบกับช่างภาพคู่หนึ่งที่นั่งอยู่ก่อนแล้ว จากการสนทนาทำให้ทราบว่าสัตว์ที่พวกเขานั่งเฝ้าอยู่คือ “นกพญาปากกว้างหางยาว” หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “หมวกกันน็อค” เพราะมีลายสีดำที่หัวคล้ายกับสวมหมวกกันน็อคอยู่ ซึ่งจะทำรังที่กิ่งไม้หรือสายไฟที่โล่ง เพื่อให้แน่ใจว่างูจะไม่มาบุกรังและกินลูกของพวกมัน ขณะนั้นเป็นฤดูสร้างรังพอดี จะเห็นว่าหมวกกันน็อคคาบใบไม้แห้งกลับมาทำรังทุก ๆ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

ต่อมาไม่นานนักพี่ช่างภาพทั้งสองคนก็เดินทางกลับบ้าน และเนื่องจากที่ตรงนั้นเป็นที่ร่มรำไร แสงหมดไวมาก เราจึงเปลี่ยนมาปักหลักที่จุดชมวิวกิโลเมตรที่ 30 แทน เพราะพี่กวินบอกว่าฝูงนกเงือกจะบินกลับรังผ่านจุดดังกล่าว ระหว่างรอดูฝูงนกเงือก ได้ถ่ายนกจาบคาที่บินจับแมลงแถวนั้นเพื่อฆ่าเวลา

ขณะนั้นก็มีฝูงลิงที่พยายามขโมยอาหารจากรถของนักเดินทาง แต่มีตัวหนึ่งคงหิวและพยายามจะกินอาหารที่เจ้าของวางทิ้งไว้ในรถ ซึ่งเราเห็นว่าเป็นภาพที่ตลกดีก็ถ่ายเก็บไว้   รอแล้วรอเล่าจนจาบคา ลิงและนกอื่น ๆ กลับรังไปแล้ว เป็นเวลาเกือบหกโมง ฟ้าเริ่มมืด กอปรกับต้องเดินทางกลับที่พักด้านล่างที่จองไว้เพราะทางอุทยานปิดบ้านพักและลานกางเต็นท์ชั่วคราว การทำงานวันแรกจึงสิ้นสุดลง

นกพญาปากกว้างหางยาวมักจะทำรังที่กิ่งไม้หรือสายไฟที่โล่งเพื่อให้ปลอดภัยจากสัตว์นักล่า

นกพญาปากกว้างหางยาวมักจะทำรังที่กิ่งไม้หรือสายไฟที่โล่งเพื่อให้ปลอดภัยจากสัตว์นักล่า

ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “หมวกกันน็อค” เพราะมีลายสีดำที่หัวคล้ายกับสวมหมวกกันน็อคอยู่

ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “หมวกกันน็อค” เพราะมีลายสีดำที่หัวคล้ายกับสวมหมวกกันน็อคอยู่

นกจาบคาบินจับแมลง

นกจาบคาบินจับแมลง

ลิงพยายามจะกินอาหารที่อยู่ในรถ

ลิงพยายามจะกินอาหารที่อยู่ในรถ

วันถัดมา เราเริ่มเดินทางตั้งแต่เกือบหกโมงเช้า หวังจะขึ้นอุทยานตั้งแต่เปิด จุดแรกที่แวะเพื่อมองหาสัตว์ แน่นอนว่าเป็นจุดชมวิวกม.30 ที่เดียวกับเมื่อวาน เราได้ยินเสียงจากต้นไม้สูงหลังร้านกาแฟขยับกิ่งสั่นไหวผิดปกติจากลมพัด หากเพ่งมองดี ๆจะเห็นนกกก นกเงือกหนึ่งในสี่ชนิดที่พบได้ที่เขาใหญ่ กำลังกระโดดไปมาจากกิ่งหนึ่งสู่อีกกิ่ง ระหว่างที่เรากำลังถ่ายรูปนกกกอยู่นั้น มีจักรยานยนตร์สีแดงขับมาจอดเลยจุดที่เรายืนอยู่ไม่กี่เมตร ผู้ชายร่างเล็กเจ้าของมอเตอร์ไซค์คันนั้นจอดดูด้วยความสงสัยว่าเรากำลังถ่ายอะไร แล้วเดินไปนั่งพักที่หินริมผาจุดชมวิว สิ่งสะดุดตาเราที่ถูกผูกไว้ท้ายรถสีแดงเป็นขาตั้งกล้องสีดำอันใหญ่ และผู้ชายคนนั้นมีกล้องติดเลนส์ซุปเปอร์เทเลอยู่ เราเลยเข้าไปทักทายและพูดคุยเกี่ยวกับกล้องและการถ่ายสัตว์ป่า

เมื่อทำความรู้จักกับ “พี่แขก” แล้ว จึงขอตามไปถ่ายสัตว์ด้วย พี่แขกใจดีและมีความชำนาญในการถ่ายภาพสัตว์ป่า สังเกตได้จากเขาสามารถฟังเสียงสัตว์และรู้ว่าเป็นสัตว์อะไร นกชนิดไหน อีกทั้งรู้ตำแหน่งรังนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นกเงือกอีกพันธุ์ที่ไม่ได้พบเจอบ่อย ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง เราถ่ายสัตว์ได้เยอะกว่าทุกครั้งที่มารวมกัน ทั้งนกกก นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นากใหญ่ขนเรียบที่บังเอิญไปเจอที่ศูนย์อาหาร นกคิงฟิชเชอร์หรือนกกระเต็นสีน้ำเงิน(ด้วยข้อจำกัดของระยะเลนส์ทำให้ไม่สามารถเก็บภาพได้) และอื่น ๆ

เวลา 11.00 ฝนเริ่มตั้งเค้า ทำให้พี่แขกที่ขับมอเตอร์ไซค์ต้องแยกไปหลบฝน ส่วนเราก็กลับที่พักด้านหลัง ไม่นานนักฝนก็เทกระหน่ำเหมือนฟ้ารั่วจนค่ำ ส่งผลให้ต้องตัดแผนถ่ายช่วงเย็นออก และจบทริปอย่างน่าเสียดายเนื่องจากต้องกลับกรุงเทพกะทันหัน แต่คุ้ม เพราะได้รู้แล้วว่าการถ่ายภาพสัตว์ป่า ต้องใจเย็น ไม่ผลีผลามทำให้สัตว์ตกใจ หูตาว่องไว มีความรู้ด้านพฤติกรรมสัตว์ป่า ฟังเสียงสัตว์และต้องแยกให้ออกว่าเป็นสัตว์อะไรจะได้ตั้งค่ากล้องให้เหมาะสม ที่สำคัญต้อง ”มีโชค” (หัวเราะทั้งน้ำตา)

นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นกเงือกอีกพันธุ์ที่ไม่ได้พบเจอบ่อย กำลังบินมาป้อนอาหารลูกที่อยู่ในโพรง

นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นกเงือกอีกพันธุ์ที่ไม่ได้พบเจอบ่อย กำลังบินมาป้อนอาหารลูกที่อยู่ในโพรง

นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นกเงือกอีกพันธุ์ที่ไม่ได้พบเจอบ่อย กำลังบินมาป้อนอาหารลูกที่อยู่ในโพรง

นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นกเงือกอีกพันธุ์ที่ไม่ได้พบเจอบ่อย กำลังบินมาป้อนอาหารลูกที่อยู่ในโพรง

นกโพระดกกำลังเจาะโพรงทำรังที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติกองแก้ว

นกโพระดกกำลังเจาะโพรงทำรังที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติกองแก้ว

นากใหญ่ขนเรียบที่บังเอิญไปเจอที่ศูนย์อาหาร กำลังนอนเล่นอยู่ก่อนจะมุดน้ำและหายไปอย่างรวดเร็ว

นากใหญ่ขนเรียบที่บังเอิญไปเจอที่ศูนย์อาหาร กำลังนอนเล่นอยู่ก่อนจะมุดน้ำและหายไปอย่างรวดเร็ว

โปรดติดตามตอนจบเร็ว ๆ นี้…

 

ขอขอบคุณเป็นพิเศษ: พี่กวิน พี่เจน และกีกี้บูบู้