ท่องทีลอซู (วันที่สอง)

 

เรื่อง และ ภาพ: เพชรภูมิ กสุรพ

วันนี้ตื่นแต่เช้าตรู่ เพราะต้องไปกินโรตีโอ่งเจ้าเก่าในย่านมุสลิมของเมืองแม่สอด ร้านดังกล่าวผมตั้งใจนำเสนอในที่ประชุมคณะท่องเที่ยวครั้งนี้เมื่อคืนของวันแรก เพราะความอร่อยและรสชาติเฉพาะตัวนั้นยังคงตราตึงอยู่ในห้วงความทรงจำของผมเมื่อสองปีก่อน จนอยากจะสำลักความทรงจำนี้แก่เพื่อร่วมทางทุกคนให้ลิ้มลองกัน เมื่อถึงร้าน สั่งโรตีโอ่ง เครื่องดื่มขึ้นชื่ออย่างนมแพะกับชาร้อน พร้อมตบท้ายด้วยไข่ลวก (บางคนก็ดาวแต่บางคนก็ไม่เอา) ผมชื้นใจขึ้นเมื่อเพื่อนร่วมทางเองต่างชอบในรสชาติของร้านนี้ ดั่งสมปราณาที่ผมอยากจะแบ่งปันร้านดี ๆ แก่กัน แต่แอบเสียดายของขึ้นชื่ออีกอย่าง คือ แกงถั่วที่กินคู่กับโรตีโอ่ง นั้นมีขายเฉพาะวันเสาร์ และ อาทิตย์ แต่เรากลับไปในวันที่ไม่ใช่สองวันนี้

สู่เสียดฟ้า

หลังจากกินโรตีโอ่งเสร็จก็กลับเข้าที่พักเพื่อมากินข้าวเช้า เช็คเอาท์ แล้วเดินทางไปซื้อเสบียงเพิ่มเติมที่ห้างสรรพสินค้า ก่อนจะเดินทางไปยังที่หมายแรกของวันนี้ คือ ถ้ำสีฟ้า อยู่ทางไปอุ้มผางพอดี เมื่อถึงถ้ำแห่งนี้ก็มีผู้ก่อการเห่ามาคอยต้อนรับแขกอยู่หน้าถ้ำ (แต่ไม่ได้เห่าใคร) เราเดินไปไม่กี่ก้าวก็เข้ามาภายในถ้ำเลย สีฟ้าของถ้ำเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติจากหินปูนชนิดหนึ่ง และเมื่อต้องกับแสงไฟนั้น ความฟ้าของหินจึงเผยกายให้เห็น เพียงแต่มันไม่ได้สดมากอย่างที่เราเข้าใจกัน สำหรับระยะทางภายในถ้ำนั้นไม่ได้กว้างมาก ส่วนความกว้างนั้นแคบไปเล็กน้อย หากไปหลายคนอาจหายใจไม่ออก แม้มีลมโกรกไปถึงส่วนลึกสุดก็ตาม ในขณะที่บางช่วงนั้นเป็นหลุมลึก หากตกลงไปอาจเกิดอาการบาดเจ็บได้ จึงต้องเดินข้ามทางอย่างระมัดระวัง เมื่อเราถ่ายภาพบนพื้นที่ถ้ำสีฟ้าเสร็จจึงเดินทางต่อไป หลังจากนี้จะเป็นการลัดเลาะข้ามภูเขานับร้อยกิโลเมตรที่ถูกทำหน้าที่กั้นแดนไทยกับพม่าให้แยกจากกันบนเส้นสมมติ

สีฟ้าอ่อนๆ จากหินปูนในถ้ำ กำลังเผยตัวตนหลังสัมผัสกับแสงของหลอดไฟตามทางเดินภายในถ้ำ

บริเวณทางเข้าถ้ำสีฟ้ามีพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ ถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ประกอบทางศาสนาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ

สถานการณ์ภายในรถระหว่างข้ามภูเขา ต่างเต็มไปด้วยทางโค้งนับร้อยคอยบริการให้น้ำในหูไม่เท่ากันนี้ ผู้ร่วมทางส่วนหน้าของรถนั้นไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่คนที่อยู่ด้านหลังนั้นกลับถูกการสั่นโคลงของรถได้สำรอกเอาข้าวเช้าและโรตีโอ่งออกมาตลอดทาง จนมาถึงครึ่งทางที่ชุมชนชาติพันธุ์ม้งในอำเภอพบพระ ใกล้กับแหล่งต้นน้ำแม่กลองที่จะไหลไปยังปลายน้ำเพื่อบรรจบกับอ่าวไทยในบริเวณเมืองสมุทรสงครามนี้เอง ก็แวะพักดื่มกาแฟที่ร้านประจำของกวิน หนึ่งในสมาชิกร่วมทางได้แนะนำและเป็นพลขับหลักของการเดินทางครั้งนี้ ระหว่างนั้นก็หยุดอาการเมารถไปชั่วระยะหนึ่ง ก่อนจะเดินทางไปดูลำน้ำตอนบนของแม่กลอง ถ่ายภาพและซื้อผลผักเล็กน้อย แล้วรุกหน้าต่ออีกเกือบ 70 กิโลเมตรเพื่อเข้าพื้นที่อำเภออุ้มผาง ในครึ่งหลังเกือบ 70 กิโลเมตรนี้ ขอบโค้งมนของถนนที่ตัดผ่านภูเขาน้อยใหญ่ยังคงทำหน้าที่ของมัน ด้วยการสำรอกเพื่อนร่วมทางหลายคนอยู่ บ้างไม่อ้วกแต่ก็หมดแรง ก่อนจะเดินทางด้วยแรงเฮือกสุดท้ายของวันมาถึงตัวอำเภออุ้มผางเพื่อซื้อเสบียงจำพวกผัก น้ำจิ้มสุกี้ และน้ำเก๊กฮวย ก่อนจะเดินทางไปยังที่พักของวันนี้ 

 

น้ำตกขนาดน้อย ๆ พบได้บ่อยในพื้นที่ต้นน้ำแม่กลอง และจากธารน้ำเล็ก ๆ นี้ จะค่ายขยายใหญ่ขึ้นตามเส้นทางล่องใต้ ก่อนจะไกลไปบรรจบที่อ่าวไทย

 

ที่พักของวันนี้ไม่ได้อยู่ในตัวอำเภออุ้มผาง แต่อยู่ในพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอเลยทางไปน้ำตกทีลอซูอีก กว่าจะถึงจึงใช้เวลาเพิ่มเติมอีกชั่วโมงกว่าได้ และเรามาถึงพร้อมการชิงพลบของดวงอาทิตย์พอดี หลังจากนั้นเราจึงจัดแจงวางสัมภาระและเตรียมมื้อเย็นของวันด้วยการทำหมูกระทะเย้ยลมหนาวกิน ก่อนจะแยกย้ายไปนอนในช่วงดึก คืนนี้เป็นคืนที่นอนทรมานอย่างสุดขีด เพราะลมหนาวราว 16 องศาเซลเซียสได้ลอดมาทางช่องประตูของที่พัก และกระจายตัวจนสอดแทรกทุกอนุของร่างกายผม มันหนาวจนตัวสั่นอย่างสุดขีด ผมที่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรเลยเอาแผ่นเสือผืนน้อยมาห่มตัวเอง

อ่านตอนต่อไป