เที่ยวทิพย์: เกาะสุกร (วันที่สอง)
เรื่อง และ ภาพ : เพชรภูมิ กสุรพ
วันแรกหลับสบายไปพักใหญ่ เพราะเหนื่อยล้าจากการเดินทางและผจญโชคในวันแรก วันนี้ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเตรียมไปถ่ายพระอาทิตย์ขึ้นแถวท้ายเกาะ พี่รองรีบสตาร์ทรถเครื่องรอ ส่วนผู้เขียนเก็บของหอบพะรุงพะรังตามประสาช่างภาพบ้าหอบฟาง เพราะเห็นเลนส์นั้นนี้ดีทุกอย่างก็คว้าไปก่อน แต่ตอนถ่ายจริงก็ใช้แค่ไม่กี่ชิ้นเอง ถึงจุดหมายของวันเป็นท่าเรือฝั่งตะวันออกของเกาะที่ตรงข้ามเป็นเขตอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
สนุกแต่เช้า
เดินทางมาถึงทันเวลา ท้องฟ้ายังมืดอยู่และมีดวงจันทร์จ้องมองมายังกลุ่มคนที่ตื่นมาทำงานแต่เช้ามืด แม้จะมีแสงสว่างแซมมาจากดวงอาทิตย์ที่เริ่มเบื่อกับการก้มจูบผืนน้ำไปทั้งคืนไปก็ตาม ที่เหลือก็เป็นการรอให้พราะอาทิตย์ตื่นขึ้นโผล่จากขอบฟ้า โดยระหว่างที่รอพระอาทิตย์ขึ้นมาจากฝั่งที่เป็นภูเขานั้น พวกเราก็คอยนั่งถ่ายเรือและดวงจันทร์ไปเรื่อย ลำแล้วลำเล่าก็ผ่านไปมา บ้างก็หาปลา บ้างก็ขึ้นฝั่ง แต่บนท่าเรือก็มีคนรอท่าขึ้นเรือสัญจรไป การกลับมาของชาวประมงพร้อมยกเข่งที่เต็มไปด้วยปลาจากการจับมาในช่วงเวลาก่อน รวมไปถึงการนั่งตกเบ็ดบนท่าเรืออีกด้วย
ชาวบ้านที่นี่ใจดี แม้จะรู้ว่าพวกเรา คือ คนต่างถิ่น ก็ยังเอาลูกแตงโม ผลไม้ขึ้นชื่อของเกาะมาฝากให้กินกัน นั่งรอเรื่อย ๆ จนพระอาทิตย์ขึ้นมาจากภูเขาเมื่อราวหกโมงครึ่ง วันนี้นับว่าโชคดีมากที่ถ่ายได้เป็นดวง โดยที่มีองค์ประกอบรอบข้างเป็นผืนน้ำ ภูเขา และเรือของชาวบ้านช่วยให้ดูโดดเด่นสวยงาม ตามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ และวัฒนธรรมของมนุษย์ที่เติมแต่ง ถ่ายได้สักพัก พี่รองก็มองหาฝูงนกเพื่อเตรียมจะไปถ่าย จนได้หาดทรายข้าง ๆ ท่าเรือที่เราถ่ายรูปกันนี่แหละ มีนกทะเลหาอาหารยามเช้า พร้อมกับเหยี่ยวแดงที่เหินฟ้าสลับกับเกาะยอดมะพร้าวที่แห้ง ๆ บ้าง เพื่อรอคว้าโอกาสกินเหยื่อ ขับรถเครื่องแล้วจอดข้างทาง จากนั้นก็เดินเท้าเข้าไปต่อระหว่างทางก็เจอชาวบ้านกำลังขนย้ายลูกแตงโมจากไร่ริมหาดอยู่ พอใกล้ถึงจุดหมาย ทุก ๆ การเคลื่อนไหวของเราก็เปลี่ยนไป เมื่อการเดินถ่ายสัตว์ป่าจะมีข้อคิดที่สำคัญอยู่ไม่กี่อย่าง แต่จุดประสงค์นั้นเพื่อให้เกิดการรบกวนสัตว์น้อยที่สุด เพราะนกและสัตว์ป่าไม่ใช่คนที่จะสื่อการกันรู้เรื่อง ไม่ต้องเปิดพจนานุกรมแปลความ หรือใช้ภาษาสื่อกลาง (Lingua franca) เช่น อังกฤษ มลายู หรือ จีน ให้เข้าใจว่าจะมาขอถ่ายภาพ และแสดงท่าทางที่อยากให้ภาพออกมาเป็นตามที่คิดอยู่ ฉะนั้น ตั้งแต่การเดินทางต้องเกิดเสียงที่เบา ช้า ๆ และ ก้มต่ำให้สุด เพื่อไม่ให้พวกเขาเกิดการกลัว ระแวง จนไปถึงเครียดเกิน
แต่อุบัติเหตุมักเกิดขึ้นได้เสมอ ผู้เขียนพลาดจนนกน้ำเหล่านี้ตกใจและบินไปอยู่ในที่ที่ไกลขึ้น หรือไม่ก็รออีกสักพักกว่าที่พวกเขาจะรู้สึกไว้ใจพอจนจะกลับมาที่เดิม สุดท้ายการรอด้วยความอดทนนั้นชนะกับความร้อนใจที่อยากจะได้ภาพถ่าย เราได้ภาพฝูงนกนางนวลกลุ่มใหญ่บินไปมาอยู่หลายใบ จนถึงเวลาใกล้เคารพธงชาติก็เห็นเวลาสมควรที่จะหาข้าวเช้ากิน พวกเราเดินทางกลับไปยังร้านค้าของพี่น้องชาวที่ราบสูงเช่นเดิม ตามปกติมักถูกพร่ำสอนว่ามื้อเช้าสำคัญ กินให้เยอะ ๆ เพื่อเอาสารอาหารมาใช้ในการทำงาน แต่พวกเราตัดสินใจสวนทางด้วยการกินเบา ๆ เช่น พัฟฟ์สังขยา หรือที่คนตรังเรียก “ขนมจีบ” กับ น้ำข้าวโอ๊ต แล้วค่อยไปหนักตอนช่วงเที่ยงกับเย็นเอาแทน หลังจากกินข้าวเสร็จก็กลับไปที่พัก ไปอาบน้ำ ซักผ้า แล้วกลับมาพักผ่อนต่อ
โรงเรียนบ้านแหลมในช่วงเช้าของวันจันทร์ มีนักเรียนวัยเล็กเด็กน้อยกำลังซน ๆ ออกมาให้เพบเจอ ที่นี่ไม่ได้เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่มาก ส่วนมากพอเด็กโตขึ้นก็เริ่มไปเรียนนอกเกาะกัน พอจะไปอาบน้ำก็มาเจอพวกเด็ก ๆ บ้าง ตอนนอนพักก็จะมีน้อง ๆ มามุงดูพวกเราจากภายนอกด้วยอารมณ์ชวนสงสัยว่าสองคนนี้เป็นใครกัน? แต่บ้างก็เข้ามาคุยและเล่นกับพี่รองกันเป็นกลุ่ม ด้วยประสบการณ์เขาเคยเป็นครูเก่าก็พาเล่นกับเด็กไปด้วย เราสนุกกับเด็ก ๆ พร้อมพักผ่อนจนถึงช่วงตกเย็น ก็ออกไปถ่ายรูปกันต่อ
ตะวันที่ชิงชัง ช่างช่วยพวกฉัน
ยังคงเป็นที่เดิม และยังคงดึงดันที่ยังจะถ่ายได้เหมือนเดิม วันนี้เรามาก่อนเวลาใกล้พระอาทิตย์ตกอยู่พอสมควร และไวกว่าเมื่อวานอีกด้วย ในระหว่างนี้ก็ลัดเลาะเสาะหามุมสวย ๆ ถ่ายไปพลาง ๆ ก่อน จนผู้เขียนได้แผล เพราะซอกนิ้วเท้าเจ้ากรรมนั้นดันไปโดนโขดหิน จากการเดินไปพื้นโขดหินลึก ๆ เพื่อหามุมสวย ๆ ถ่าย เพื่อแลกกับวันนี้ได้มุมเจ๋ง ๆ มาเยอะ แถมถ่ายพระอาทิตย์ในมุมที่ตกน้ำพอดี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจจริง ๆ เมื่อการตกน้ำของพระอาทิตย์ยังไม่ได้องศามากพอ ส่วนพี่รองก็ต้องการให้การจูบของดวงตะวันนั้นสัมผัสกับริมฝีปากของน้ำในลักษณะท่าทางเป็นรูปโอเมกา (Ω) แต่เมื่อธรรมชาติให้มาอย่างนี้ และก็ไม่ได้ผิดพลาดอะไร ก็ยังคงพอใจกับภาพที่ได้มาอยู่ดี
เสร็จสิ้นภารกิจก็กลับมานั่งกินข้าวเย็น พร้อมจิบน้ำเก๊กฮวยเป็นรางวัลของวันนี้ แล้วฝากเป็นรอยใจไว้ว่าพรุ่งนี้เราจะได้ภาพที่สวยกว่าเดิม ถึงที่พักก็อาบน้ำ นำภาพที่ถ่ายได้โอนเข้าคอมพิวเตอร์ แต่งภาพแล้วแบ่งปันความสวยงามของธรรมชาติผ่านช่องทางสังคมออนไลน์ให้ร่วมชมกัน แล้วอำลาวันนี้ด้วยการเปิดเพลง “ฟ้าสาง” ของน้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ที่วางแผงในอัลบั้ม มันดี เมื่อปี 2529 แม้เนื้อเพลงจะพูดถึงภูเขาสูงทางเหนือ แต่ทั้งทำนองและโน้ตเพลงที่สบาย ๆ ต่างเอื้อให้เหมาะกับบรรยากาศที่เรากำลังเที่ยวอยู่เหลือเกิน