ท่องทีลอซู (วันที่สาม สี่ และ สุดท้าย)

 

เรื่อง และ ภาพ: เพชรภูมิ กสุรพ

หลังจากผมได้เขียนบทความชุดนี้ไปได้สองตอน ก็กลับมาทบทวนตัวเองว่าฟิล์มม้วนที่ถ่ายในการเดินทางครั้งนี้ ภายใน 36 รูปนั้นมีรูปก่อนเดินทางมาตากไปแล้วกว่า 10 รูป และเฉลี่ยภาพถ่ายในแต่ละวันของการเดินทางพอจะนำมาคัดสรรลงบนบทความได้วันล่ะ 2 – 3 รูป ยิ่งวันสุดท้ายคัดได้ภาพประกอบแค่รูปเดียว เพราะมันซ้ำกัน ผมเลยรวบสามวันให้หลังนี้เป็นตอนเดียวไปเลย จะได้ชมภาพอย่างหนำใจขึ้นมาหน่อย ไม่ใช่อ่านบทความนับสิบบบรรทัด แต่มีภาพแค่รูปสองรูปคงจะอึดอัดใจไม่น้อย

วันที่สาม

รอยพระพุทธบาท

เกือบ 6 โมงเช้า ผมตื่นขึ้นมาก่อนเพราะทนอากาศหนาวไม่ไหว เข้าห้องน้ำแปรงฟัน พับเก็บอุปกรณ์การนอนให้เรียบร้อย จนทุกคนตื่นกันหมดก็ทำหน้าที่เป็นพ่อครัวหัวหอก ต้มน้ำเทใส่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแล้วแจกจ่ายให้กับเพื่อนร่วมเดินทาง จากนั้นก็ออกเดินทางไปยังดอยพระพุทธบาท อยู่หลังที่พักของเราไปหลายกิโลเมตรบนเส้นทางลูกรังสุดชันและแคบ เราประเมินกับเจ้ารถเช่าขับเคลื่อนด้วยระบบสองล้อที่ท้องรถสูงอยู่พอสมควร ว่าจะนำพาให้เราไปถึงยอดดอยแห่งนี้รอดไหม แต่แล้วก็ขับอย่างทุลักทุเลจนรอดไปถึงจุดหมายแรกของวันนี้ได้สำเร็จ

อันที่จริง ยอดดอยนี้เคยเป็นตัวเลือกของการพักแรม แต่จากการประเมินสถานการณ์ทางกระเพาะอาหารแล้ว เนื่องจากเปนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ อาหารต่าง ๆ หากจะกินบนพื้นที่นี้ต้องเป็นเจ คือ มีส่วนประกอบเป็นผัก ไม่มีส่วนผสมจากสัตว์เจือปน และห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วย ทำให้เราตัดสินใจนอนข้างล่างดอยแทน เพื่อความสะดวกต่อกระเพาะอาหารที่อาจไม่สอดคล้องกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เมื่อถึงที่หมาย สิ่งแรกที่เราพบ คือ มูลวัว พื้นที่แห่งนี้เลยอาจเป็นทั้งที่ประกอบพิธีทางศาสนา และจุดแวะพักของวัวบ้านที่เจ้าของพามา เราแวะเดินสำรวจจากองค์พระธาตุไปจนถึงพระพุทธบาท เป็นแผ่นหินที่ส่วนบนมีลักษณะเหมือนรอยเท้ามนุษย์ ความเชื่อของผู้ที่นับถือพุทธศาสนา จึงถือว่าเป็นรอยพระพุทธบาท ยิ่งความเชื่อของชาวพุทธแบบล้านนาเข้าแล้วก็จะมีตำนานพระเจ้าเลียบโลก ว่าด้วยการเสด็จของพระพุทธเจ้าในดินแดนแถวนี้ และในจังหวัดตาก รวมถึงความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่นับถือพุทธศาสนานี้เอง จึงมีจำนวนไม่น้อยรับเอาธรรมเนียมแบบล้านนาเข้ามาผสมกับความเชื่อท้องถิ่น 

 

พระธาตุบนจุดชมวิวรอยพระพุทธบาทเป็นศิลปะทางล้านนา มีการทาด้วยสีเหลืองอร่ามงามตายิ่ง

 

ก่อนลงจากจุดชมวิวเราแวะชมทิวทัศน์ชายแดน ภูเขาสูงใหญ่ตรงหน้าของเราที่ห่างจากจุดชมวิวรอยพระพุทธบาทไปหลายสิบกิโลเมตรนี้เป็นจุดแบ่งระหว่างดินแดนของไทยและเมียนมาร์ ทว่าผู้คนสองฝั่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์กระเหรี่ยง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโปและปกาเกอะญอที่อยู่ในระแวกใกล้กัน สถานการณ์ในช่วงเวลานี้ไม่ค่อยสู้ดีนัก จากการสู่รบระหว่างประชาชน กองกำลังชาติพันธุ์ กับทหารเผด็จการเมียนมาร์ที่กำลังดำเนินด้วยความดุเดือด ผมเองและมิตรหสายหลายท่านคอยส่งกำลังใจให้ฝ่ายประชาชนและชาวบ้านชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้ชนะเจ้าพวกเผด็จการนี้ในเร็ววัน เมื่อลงจากดอยมาถึงที่พักก็เก็บกวาดให้เรียบร้อย ค่ำนี้เราจะพักภายในพื้นที่น้ำตกทีลอซู จึงต้องวางสัมภาระที่ไม่จำเป็นออกชั่วคราวด้วยการฝากไว้กับที่พัก ก่อนวันถัดมาจะมารับคืน เมื่อจัดการเสร็จสรรพก็สั่งข้าวกล่องอย่างสรรพเสร็จ ก่อนเดินทางไปกินข้าวเที่ยงที่หน้าทางเข้าน้ำตกทีลอซู

เกินกว่าคำรำพัน

เราใช้ระยะเวลาเกือบชั่วโมงจนมาถึงหน้าอุทยาน ทำธุระอย่างเป็นทางการ ด้วยการเข้าตรวจกับเจ้าหน้าที่ พร้อมแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนและจองเข้าพักแรมภายในเขตน้ำตก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นี้ทำให้มาตรการและกระบวนการซับซ้อนขึ้นมาจากเดิมเล็กน้อย เมื่อทำภารกิจส่วนนี้เสร็จจึงกินข้าวเที่ยงได้ จนช่องว่างภายในท้องไส้ของเรานั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังงานแล้ว จึงขับเคลื่อนเลื่อนรถเดินทางต่อไปยังตัวน้ำตกอีกเกือบ 30 กิโลเมตร เส้นทางในตอนนี้นั้นสบายกว่าแต่ก่อนมาก เมื่อหลายปีที่แล้วยังต้องเดินจากปากทางเข้ามา ทำเอาหลายคนท้อใจเกือบตาย แต่เดี๋ยวนี้ ถ้ามาในช่วงฝนไม่ตก รถขับเคลื่อนด้วยระบบสองล้อ (เน้นท้องรถสูงหน่อยจะเป็นการดี) ก็เดินทางเข้ามาอย่างสะดวกแล้ว

เราถึงจุดจอดรถภายในตัวน้ำตกเมื่อราวบ่ายสามกว่า จุดนี้เป็นจุดสุดท้ายที่รถยนต์สามารถเข้ามาได้ เพราะหากจะเข้าชมน้ำตกต้องเดินไปอีกกิโลเมตรครึ่งบนทางปูนแสนสะดวกสบาย แต่ก่อนที่เราจะเดินเข้าน้ำตก ผมทำการกางเต็นท์ในพื้นที่ที่เขาอนุญาต จากนั้นก็หอบสรรพกรณ์กล้องถ่ายภาพขึ้นไปยังตัวน้ำตกจริง ยิ่งใกล้ตัวน้ำตก เสียงของหยาดน้ำนับล้านที่ไหลแรงซัดลงเข้ากับก่อนหินก็ยิ่งดังขึ้นมาก ก่อนใกล้ถึงตัวน้ำตกทีลอซูราว 500 เมตร พวกเราถ่ายน้ำตกขนาดน้อยแต่ความงามไม่อ่อนด้อยเท่าทีลอซูเลย ผมแอบเซ็งเล็กน้อยเมื่อกดชัดเตอร์พลาดทำให้เดินตามหลังเพื่อนร่วมทาง เพราะต้องถ่ายซ่อม แล้วมันดันมาก็กดพลาดอีก แต่เมื่อมาเห็นภาพหลังล้างฟิล์มแล้วกลับดีใจที่ภาพออกมาสวยกว่าที่ผิดหวังไว้เยอะ

 

น้ำตกน้อย ๆ ก่อนถึงพี่ใหญ่ทีลอซู แต่ความงามนั้นก็ไม่ได้ด้วยกว่าพี่ใหญ่เลย

 

ผมมาถึงในห้วงเวลาชั่วโมงสุดท้ายก่อนจะหมดเวลาให้เข้ามาชมน้ำตก แสงแดดยามเขินอายได้แอบหนีไปอยู่หลังน้ำตกเรียบร้อยแล้ว ทำให้น้ำตกในเวลานี้ไม่ค่อยสวยมาก แม้ไม่สวยมากก็ยังงดงามกว่าที่เรารำพันไว้ขณะเห็นมันบนโลกอินเตอร์เน็ตซึ่งทำได้เพียงสัมผัสหน้าจอ เหมือนตัวเอกในโฆษณาหรือภาพยนตร์ที่อยากจะได้อะไรสักอย่างแต่การเงินไม่ช่วย จึงทำได้และลูบกระจกแสดงสินค้าที่อยากได้ ผมเองถึงกับอุทานว่า “ฝันที่ไม่กล้าฝัน” ความสวยงามของน้ำตก แม้จะหมดเวลาของความงามจากการอาบแสงของอาทิตย์ไปแล้ว ก็ยังคงงามในตัวของมันเองอยู่ เราอยู่ในภวังค์ขณะยลโฉมน้ำตกนานพักหนึ่ง ก่อนรีบออกจากตัวน้ำตกเพราะเวลาให้เข้าชมนั้นถดลงเรื่อย ๆ จนถึงจุดสิ้นสุดของวันนี้ 

 

ทีลอซูในยามอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขา ก็ยังคงมีความงามในตัวของมันเอง แม้จะไม่ได้ถูกอาบด้วยแสงแดดแล้วก็ตาม

 

ถึงจุดกางเต็นท์ในช่วงพลบค่ำ เราต้องรีบกางเต็นท์ก่อนแสงธรรมชาติคอยอำนวยให้กางได้อย่างสะดวกจะหมดลง เมื่อทุกคนกางใกล้เสร็จ ผมกับพี่เจน สมาชิกร่วมเดินทางอีกท่านหนึ่งคอยเป็นกลุ่มสหกรรมทำกับข้าวเย็น มื้อนี้เป็นแกงกะหรี่ และถือเป็นการกลับมาของ “อนาถาโภชนาสาขาสาม” กันอีกครั้ง เป็นการหาทำที่ไม่ได้จัดมาตั้งนาน แต่เดิมริเริ่มโดยพี่รอง ที่หาวัตถุดิบทำกับข้าวแล้วโพสต์แบ่งปันบนโลกออนไลน์จนเกิดเป็นสาขาแรก ส่วนผมดำเนินกิจการในสาขาสาม เราทำแบบนี้นับปีได้ ก่อนตบท้ายด้วยสุกี้ของพี่เจนที่วัตถุดิบเหลือจากหมูกระทะรอบก่อน มื้อนี้อิ่มพีสำราญใจสุด ก่อนจะแยกย้ายไปอาบน้ำ แปรงฟัน ถ่ายดาวสักชั่วโมงก่อนจะเข้านอน คืนนี้ผมค่อยยังชั่ว เพราะเต็นท์ที่กักตุนความอุ่นในระยะหนึ่งได้คอยอุ้มชูให้ผมคลายหนาวไปบ้าง

วันที่สี่

วันนี้ต้องรีบตื่นแต่เช้าตรู่ เพราะต้องถ่ายน้ำตกทีลอซูในยามอาบแสงอาทิตย์ให้ได้ หลังกินข้าวเช้าเสร็จก็ก้าวเท้าเข้าไปยังตัวน้ำตกด้วยระยะทางกิโลเมตรครึ่งเช่นเคย แต่การตื่นเช้าตรู่ไม่ได้หมายความว่าจะพบกับแสงแดดที่กำลังสัมผัสอยู่บนเรือนร่างขรุขระของน้ำตกได้แน่นอน เมื่อวันนี้มีหมอกจับตัวขึ้นหนาได้แย่งความโดดเด่นของแสงแดด กว่าไอหมอกจะสลายตัวให้แสงพระอาทิตย์ได้เฉิดฉายขึ้นก็กินเวลานานนับชั่วโมง แต่เมื่อเห็นแสงอาทิตย์จับต้องทันใด ความงามเต็มศักยภาพทางธรรมชาติของน้ำตกแห่งนี้จึงปรากฏขึ้น มันยิ่งกว่าคำพรรณนาที่เหนือเอ่ยรำพันไปเมื่อวานเสียอีก มันคุ้มค่าแล้วในชีวิตของผมที่ได้ตกอยู่ในมายาทางธรรมชาติเช่นนี้

เราถ่ายภาพที่นี่จนคุ้มแก่เวลาที่วางแผนไหว (แต่จริง ๆ ต้องทดเวลาเพิ่มจากการรอแสงอาทิตย์มาแทรกม่านหมอกให้สัมผัสกับน้ำตกด้วย) สิ่งที่ต้องแลกมา คือ เราจำเป็นต้องสละเวลาบางส่วนแล้วต้องรีบเดินทางขาล่องต่อไป ที่พักในวันนี้จึงต้องเปลี่ยนไปจากแผนเดิม คือ อุทยานแห่งชาติลานสาง มาเป็นอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชที่ถึงก่อนราว 10 – 15 กิโลเมตร เมื่อวางแผนใหม่เสร็จก็เริ่มออกเดินทางไปยังที่พักของวันก่อนหน้าเพื่อมารับสัมภาระที่ฝากไว้ จากนั้นก็ตรวจความเรียบร้อย จัดเรียงสัมภาระที่ยืมเข้าไป จำพวกถ้วย ชาม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารให้เสร็จสิ้น ก่อนจะเดินทางขาล่องเข้าแม่สอดเพื่อไปรับของที่ผมลืมไว้ในที่พักคืนแรก ต้องขอขอบคุณพี่โจอี้ หนึ่งในสมาชิกร่วมเดินทางอีกคนที่คอยประสานงานกับที่พักคืนแรกไว้ ก่อนจะมุ่งไปยังอุทยานแห่งชาติตากสินเพื่อปล่อยสมาชิกบางส่วน (รวมถึงผม) คอยจัดการเรื่องกางเต็นท์ ส่วนพี่โจอี้จะไปส่งสมาชิกอีกคนกลับกรุงเทพที่ขนส่งจังหวัดตาก

มื้อค่ำวันนี้เป็นแกงกะหรี่แบบ “อนาถาโภชนาสาขาสาม” เช่นเคย เรานั่งกินและจัดการกับธุระส่วนตัวจนถึงช่วงดึก ก่อนจะแยกย้ายกันเข้านอนตามเต็นท์ของตัวเอง วันนี้โชคดีที่ที่อาบน้ำนั้นมีฝักบัวด้วย แต่ความหนาวก็ไม่น้อยหน้ากับการตักด้วยขันแล้วสาดเข้าร่างกายกันโครม ๆ จนเกิดอาการสั่นสู่ คืนวันนี้ก็ไม่ได้หนาวเท่าคืนก่อนด้วย เพราะอากาศได้อุ่นขึ้นกว่าวันก่อน ๆ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว

น้ำตกทีลอซูถูกห่มด้วยผืนหมอก เหมือนกำลังรออาบแสงอาทิตย์อยู่

วันสุดท้าย

วันนี้พวกเราตื่นเช้าไปถ่ายพระอาทิตย์ขึ้น กะจะได้จัดการกับม้วนฟิล์มให้หมดม้วนไป รอบนี้ยอมรับว่าถ่ายพลาดไปเยอะ ไม่ว่าจะลืมตั้งค่ารูสับแสงเลนส์ ไม่ได้ใช้โหมดจับเวลาในช่วงที่ขี้เกียจ หรือรีบจนไม่อยากเสียเวลากับการเสียบสายลั่นชัตเตอร์ ทำให้สถานที่ท้าย ๆ ของการเดินทางไม่ได้ถ่ายด้วยฟิล์ม การถ่ายพระอาทิตย์ของเช้าสุดท้ายในการเดินทางครั้งนี้จึงเป็นมุมดอยที่ถ่ายกันวันแรก ผมเฟ้นจุดจะถ่ายเพื่อได้คุ้มกับรูปสุดท้ายอยู่หลายนาที จนมาเจอทิวเขาที่มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่ไกลสุดสายตา ผมค่อย ๆ ลากกระบอกเลนส์ซูมเข้าไป แล้วกดด้วยสายลั่นชัตเตอร์ แต่เหมือนว่าฟิล์มยังเดินทางไม่สุด เลยถ่ายไปอีกรูป จนเสียงเลื่อนฟิล์มด้วยระบบไฟฟ้าแบบไม่ต้องหมุนด้วยมือเหมือนรุ่นก่อนได้หยุดลง เป็นสัญญาณชัดเจนแล้วว่ามันได้มาถึงรูปสุดท้ายของม้วนนี้จริง ผมกรอฟิล์มเก็บเข้ากล่อง แต่เรื่องราวจะยังไม่สิ้นสุดลงตรงม้วนฟิล์มนี้

 

 

เรื่องราวบนแผ่นฟิล์ม: ท่องทีลอซู 

ผู้เขียนและถ่าย: เพชรภูมิ กสุรพ

เพื่อนร่วมทาง

กวิน พี่เจน พี่โจอี้ และคณะ

อุปกรณ์บันทึกฟิล์ม: Nikon F4s

ฟิล์ม: Fujichrome Velvia 50 (สไลด์)

เลนส์

Nikon AF NIKKOR 75-300mm f4.5-5.6 

Nikon 28-105mm f/3.5-4.5D 

AF-S NIKKOR 50mm f/1.8G

Nikon AF DX Fisheye-NIKKOR 10.5mm f/2.8G ED

เดินทาง: 21 – 25 ธันวาคม 2564

ล้างฟิล์ม: ปาตานีสตูดิโอ (มกราคม 2565)

ฝ่ายทำกับข้าว   ฝ่ายพลขับ   ควบคุมดนตรี

   ภีม – พี่เจน         กวิน – พี่โจอี้        พี่คิด – ภีม

ขอขอบคุณ: กวิน และ ทีมงาน TU Photo

ขอขอบคุณในมิตรภาพ

เพื่อนร่วมทางทุกคน ชาวบ้านแม่กลองน้อย 

และ พี่ ๆ ที่พักบ้านกล้อทอ

ขอขอบคุณพิเศษ: พี่โจอี้สำหรับดำเนินเรื่องของที่ผมลืม

ขอขอบคุณอย่างลึกซึ้ง: ผู้อ่านทุกท่าน

การท่องทีลอซูครั้งนี้ เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของผมและเพื่อนร่วมทาง ทุกคนที่ได้ยลโฉมต่อความงาม และนอกจากประสบการณ์ใหม่ ๆ แล้ว มิตรภาพใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างทางนี้ด้วย มันช่างตราตรึงสำหรับผมจริง ๆ
แต่น่าใจหาย บทความชิ้นนี้อาจจะเป็นเรื่องท้าย ๆ ของผมในฐานะสมาชิกชุมนุมก่อนจะจบการศึกษาไป และเป็นจุดเปลี่ยนผ่านในการพบเจอสิ่งใหม่ ๆ ที่รอเราอยู่อย่างไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร?