เที่ยวทิพย์: เกาะสุกร (วันแรก)
เรื่อง และ ภาพ : เพชรภูมิ กสุรพ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ที่ระบาดหนักและไม่มีท่าทีที่แผ่วลง ทำให้การปิดเทอมของผู้เขียนไม่ได้ออกไปเที่ยวที่ไหน ยิ่งบ้านช่องในพื้นที่ที่ถูกประกาศล็อกดาวน์คงไม่คต้องหวังจะหาประสบการณ์จากการเดินทางไกลแล้ว นอกจากเดินเท้าวนรอบบ้านแล้วดูนก ดูไม้ และ ดูฝาผนังบ้านที่มีคราบรอยน้ำหยาดชโลมจากหลังคาไปวัน ๆ อยู่อย่างนี้ แต่หากนั่งนิ่ง ๆ รอให้ความวิบัติเหล่านี้ซบเซาลง ก็คงจะนานเกินแก่การรอคอยไป คิดว่านั่งเปิดคอมพิวเตอร์พกพา พิมพ์บทความการเที่ยวในครั้งเก่าน่าจะเป็นการทดแทนการเดินทางจริงในช่วงนี้ไม่น้อย อีกทั้งเป็นการกลับมาเขียนบทความในเว็บไซต์ชมรมรมที่ทิ้งหายไปหลายเดือน เพราะเรียนหนักอยู่พอสมควร (ไม่นับเวลาสำมะเลเทครัวตามที่ต่าง ๆ รอบ ๆ มหาวิทยาลัย เช่น ร้านสนทนาพาที ลาบป้านาง หรือ ครัวตาชัย)
เดินทางฟ้าผ่า
21 ธันวาคม 2562 ผู้เขียนอยู่หาดใหญ่อีกสักวันแล้วมีแผนว่าจะกลับบ้านในวันถัดมา หลังจากที่ขึ้นมาเพื่อพบปะทักทายกับเพื่อนฝูง แต่แล้วเสียงโทรศัพท์ได้ดังขึ้น “พรุ่งนี้พี่จะไปเกาะสุกร สนใจไปไหม? สักสามสี่วัน” พี่รองโทรศัพท์มาหา ใจลังจิตเลว่าตัดสินใจไปดีไหม เพราะเดือนหน้าก็ต้องขึ้นไปเรียนหนังสือต่อแล้ว อยู่บ้านอีกสักหน่อยก็ดีไม่น้อย แต่ถ้าหากพลาดโอกาสเที่ยวถ่ายภาพดี ๆ ก็จะเสียดายอีก เนื่องจากคนอื่น ในชมรมต่างก็จัดค่ายใหญ่ที่ภูกระดึง (สามารถหาดูบทความเกี่ยวข้องได้ในเว็บไซต์นี้) สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกหอบสัมภาระน้อยชิ้น (แต่เน้นอุปกรณ์ถ่ายภาพ) เดินทางเข้าสู่จังหวัดตรังในช่วงเช้าตรู่ของวันถัดมา
กว่ารถตู้จะออกเดินทางและถึงจุดนัดพบที่สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย ห่างจากตัวเมืองตรั้งไปหลายกิโลเมตรได้ก็เป็นเวลาสายแล้ว มาถึงก็พบพี่รองในสภาพสมบุกสมบัน เขาเพิ่งกลับมาจากการถ่ายนกในสวนแห่งนี้ จากนั้นก็กินข้าวเช้าด้วยกัน เป็นข้าวเหนียวไก่ทอดที่ผู้เขียนซื้อมาจากสถานีขนส่งจังหวัดตรัง มื้อแรกไม่ได้อร่อยมาก แต่เอาให้อิ่มไว้ก่อน ตามประสานัก (กำลัง) เดินทาง พักเติมพลังงานของชีวิตสักนิดให้พอเป็นกระษัย กระทั่งลูกชายของเพื่อนพี่รองที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแหลมในเกาะสุกร จะมารับพวกเราขึ้นไปเกาะ การเดินทางจะเป็นการนั่งรถลงมายังทางอำเภอปะเหลียน ถึงท่าเรือแล้วนั่งเรือต่ออีกหลายนาที จนถึงที่หมาย เพื่อนพี่รองก็พามารับด้วยรถซาเล้งเพื่อไปทานข้าวเที่ยงที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง คนที่นี่นิยมขี่รถ ซาเล้งมากกว่ารถยนต์ เพราะสะดวกและขนของได้พอ ๆ กัน ในขณะที่รถยนต์เดินทางเข้ามาในเกาะลำบาก และเกาะมีขนาดเล็กมากจนไม่ได้มีความจำเป็นอะไร ยกเว้นขนสิ้นค้าหรือวัตถุดิบอาหาร
ความโชคดีของร้านอาหารแห่งนี้อยู่กลางทุ่งนา และเกาะแห่งนี้ยังคงมีการทำนาอยู่ ได้ข้าวจากการเกี่ยวก็นำไปสีที่โรงกลางเกาะได้ แน่นอนว่าเมื่ออยู่ท่ามกลางทุ่งก็ต้องมีสัตว์มาหากิน หลังจากที่เรารออาหารมาก็คว้ากล้องมาถ่ายนกทันที เป็นยางที่กำลังเดินอยู่กลางทุ่ง ถัดไปท้ายทุ่งนามีฝูงควายบ้านกำลังแช่โคลนคลายร้อน หลังจากเจอช่วงมรสุมที่พัดผ่านมาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ในขณะที่บนศีรษะของเรา เหยี่ยวแดงบินเหินฟ้าท้าทายแสงแดดที่สาดเข้ามาในยามบ่าย ก่อนตบท้ายด้วยการถ่ายยางกรอกกำลังงมหาอาหารของมัน ตามริมหนองน้ำขนาดเล็กข้างร้านอาหารที่รกชัฏไปด้วยพืชน้ำ บางครั้งเราถ่ายเพลินจนลืมหิวข้าวไปเลย
ก่อนตะวันจะชิงโพสต์
เมื่อพวกเราทานข้าวเที่ยงเสร็จก็เดินทางไปยังที่พัก เป็นห้องพักผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กภายในโรงเรียนบ้านแหลม ที่ตั้วอยู่บริเวณท้ายเกาะ บรรยากาศสงบ มีลมเย็นพัดผ่าน และเนื่องจากตรงกับวันอาทิตย์เลยไม่มีน้อง ๆ นักเรียนวัยซุกซนมาทักทายพวกเรา เมื่อวางสัมภาระที่หนักอึ้งลง จัดแจงของที่ไม่จำเป็นกับการออกไปถ่ายภาพ อย่างการเก็บคอมพิวเตอร์พกพาไว้ในห้อง ก็ช่วยลดภาระให้สันหลัง บ่า และสะบักได้พอสมควร เรานั่งเอกเขนกสลับกับนอนเล่นอยู่ในห้องพักนับชั่วโมง เพื่อรอตกเย็นแล้วออกเดินทางไปถ่ายทะเล
เห็นพระอาทิตย์ค่อย ๆ ร่วงลงจนใกล้จะแตะขอบฟ้าอีกไม่นาน ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีกับการเดินทางเผื่อเวลาสักหน่อย ถึงหาดที่หมายในช่วงโพล้เพล้ หรือในภาษาใต้เรียก “หวันมุ้งมิ้ง” พอดี เตรียมปักขาตั้ง หมุนหัวบอลเข้าหาขาตั้ง ติดกล้องเข้าไปและเสียบสายลั่นชัตเตอร์ให้พร้อม จากนั้นจึงบรรเลงภาพอาทิตย์ตกและทะเลยามใกล้ค่ำให้ไปตามอัธยาศัยของจินตนาการที่อยากจะเสริมเติมสวยภาพถ่าย แต่การถ่ายพระอาทิตย์ตกน้ำของวันนี้กลับล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่อพระอาทิตย์ที่เราอยากวาดฝันกลับไม่สนใจคำหวัง ได้แต่สวนให้ลงตกภูเขาของเกาะไปอย่างนั้น ก็อย่างที่ว่าแหละ เพราะธรรมชาติถือหุ้นใหญ่สุด เขาจะช่วย เต็มใจให้ หรือกั่นแกล้งแกมหยอกล้อเราอย่างไรเขาก็ทำได้อยู่แล้ว เรารังสรรค์ความสวยจากจินตนาการได้เท่าที่ธรรมชาติจะให้แค่นั้นเอง และถึงอย่างน้อย ภาพที่เราถ่ายในครั้งนี้ก็สวยไม่แพ้ภาพไหน แม้จะไม่มีภาพที่ตามใจหวังก็ตาม
ถ่ายภาพเสร็จก็พลบค่ำพอดี เดินทางกลับเพื่อหาร้านอาหารทานข้าวเย็น แต่เกาะแห่งนี้นั้นไม่ได้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่จะมีร้านอาหารโต้รุ่งคือยามค่ำ เพียงพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าแล้วก้มลงจูบผืนน้ำเท่านั้น ร้านค้าก็ทยอยปิดกันเป็นแถบ แต่โชคดีที่มาเจอร้านพี่น้องชาวอีสาน จากดินแดนนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ที่กำลังจะเก็บข้าวของปิดร้านพอดี พี่รองเลยขอโชว์ฝีมือร้าน ที่รองนั่ง อดีตร้านอาหารที่เขาเคยประกอบกิจการ จนมีความทรงจำกับนักเรียนชาวหาดใหญ่มากมาย (แต่ผู้เขียนมาไม่ทัน) ทำกับข้าว พร้อมจ่ายค่าอาหาร มื้อเย็นวันนี้เลยลิ้มรสอาหารของพี่รอง ที่ตอนนี้จับต้องได้ยากเพราะไม่ได้เปิดร้านอาหารแล้ว ก่อนจะตบท้ายวันแรกด้วยการจิบน้ำเก๊กฮวยให้สดชื่นจากคอไหลชะลอลงไปถึงหัวใจ