วิชาบันทึกดวงดาว Basic Astrophotography
เรื่อง และ ภาพ : กวิน สิริจันทกุล
อยู่ในเมืองใหญ่ เจอแสงไฟมากมาย อาจจะลืมไปว่ายังมีแสงดาวส่องสว่างอยู่บนฟ้า
คิดถึงฟ้ามืด ๆ คิดถึงดาวดวงเล็ก ๆ กันไหมครับ :)
ในบล้อกนี้เราจะพาทุกคนเดินทางไปบนท้องฟ้า ไปเก็บดวงดาวดวงเล็กดวงน้อยมาไว้บนภาพถ่ายของเรากัน เอ้า… เริ่ม!
อย่างที่ทราบกัน บนท้องฟ้านอกจากจะมีดวงอาทิตย์แสนจะร้อนแรงแผดเผา ยังมีดวงจันทร์ที่สว่างจ้าในตอนกลางคืน มีเมฆ หมอก ฝุ่น เต็มไปหมด หากคืนไหนโชคดี อาจจะได้เห็นแสงสว่างเล็กๆ ที่เรียกว่า…เครื่องบิน เอ้ย ดวงดาว... แสงสว่างเล็กๆ ที่โดนบดบังได้อย่างง่ายดาย คืนเดือนมืด จึงเป็นคืนที่ควรดูดาวมากที่สุด เช่นเดียวกันกับฤดูหนาว...ที่ควรไปค่ายกับ TU Photo…
หลายๆ คนอาจจะเคยเห็นภาพดาวสวย ๆ ทางช้างเผือกตัวโต ๆ จากช่างภาพชื่อดังหลายคน แล้วได้แต่หันมาถามตัวเองว่า เราถ่ายภาพแบบนั้นได้ไหมนะ ทำไมดาวที่เห็นกับดาวที่ถ่ายได้มันไม่เห็นจะเหมือนกันเลย หรือที่แย่ที่สุด… นั่นดาว หรือ Noise อะ…
ในการถ่ายภาพดวงดาว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ถึงแม้ว่าดาวบนท้องฟ้าจะเป็นดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์ แต่มันอยู่ไกลมากกกกกกกกกกกกก ไกลจนแสงที่ส่องมาถึงโลกนั้นริบหรี่ สว่างน้อยยิ่งกว่าแสงของหิ่งห้อยเสียอีก… เพราะฉะนั้นแล้ว เราจึงต้องเก็บแสงให้ได้มากที่สุด ซึ่งในทางถ่ายภาพนั้นหมายความว่า... เราต้องใช้โหมด Manual (M) เปิดรูรับแสง (F) ให้กว้าง เปิดม่านชัตเตอร์ให้นาน และใช้ ISO สูง ๆ (ตรงนี้ไม่มีสูตรตายตัว (บางคนอาจจะเคยได้ยินสูตร 500 300 แต่เอาจริง ๆ มันก็ใช้ไม่ได้ผล 100%) เพราะส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้า และขีดจำกัดของกล้อง/เลนส์)
งง… งงแน่ๆ เอาง่ายๆ ลองตั้งค่าตามนี้ดู F 2.8 Shutter Speed 15-30 วินาที ISO 1600 อย่าลืม!! ปิดกันสั่น โฟกัสที่ดาว (infinity) และตั้งกล้องให้นิ่งที่สุด!! (บนขาตั้งกล้อง บนพื้น หรือบนหัวเพื่อน...) หลังจากนั้นกลับมาดูภาพถ้ามืดเกินไป ก็ลองลด shutter speed (เปิดม่านชัตเตอร์ให้นานขึ้น) ถ้าสว่างเกินไป ให้ลองลด ISO...
ถ้าหากด้านบนรวบรัดเกินไป เรามาลงรายละเอียดกันหน่อย…
ก่อนอื่นเลย ****อย่าลืม**** ปิด Noise reduction ปิดกันสั่น และปรับเลนส์/กล้อง ให้เป็น Manual focus
( ปิด Noise reduction เพราะมันอาจจะลบดาวบางส่วนในภาพไป และทำให้กล้องช้าผิดปกติ ปิดกันสั่น เพราะเวลาเราตั้งกล้องไว้นิ่ง ๆ และเปิดชัตเตอร์สปีดนาน ๆ กันสั่นอาจจะมีการขยับทำให้ภาพของเราเบลอได้ Manual focus เพราะกล้องส่วนใหญ่ไม่สามารถโฟกัสดาวได้ ต้องอาศัยตัวเราเองนี่แหละโฟกัสให้มัน)
กล้อง
อย่างที่ทราบกัน ถ้ายิ่งเซ็นเซอร์ใหญ่ ก็จะสามารถรับแสงได้ดี... แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนามาไกลมาก แม้กระทั่งโทรศัพท์ก็สามารถถ่ายทางช้างเผือกได้สบาย ๆ แต่คุณภาพไฟล์รูปก็ไม่สามารถสู้กล้องจริง ๆ ได้อยู่ดี ที่สำคัญกล้องควรจะมีโหมด Manual (M) (โหมดอื่น ๆ ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะถ้าหากเป็นโหมดออโต้ หรือกึ่งออโต้ ส่วนใหญ่แล้วกล้องจะไม่ให้ชัตเตอร์ตำ่ และการวัดแสงในกล้องมีโอกาสผิดเพี้ยนได้มาก ทำให้ได้รูปออกมามืดเกินไป หรือสว่างเกินไป)
เลนส์
ส่วนมากหากเพิ่งเริ่มเพิ่งลองถ่าย ควรใช้เลนส์มุมกว้าง 10mm 16mm 18mm 20mm เพราะมันกว้าง ทำให้สามารถเก็บดาวได้เยอะ การตั้งค่าต่างๆสามารถยืดหยุ่นได้มากกว่าเลนส์แคบ ๆ แต่ถ้าอยากจะ advance กว่านั้น... ไว้บล้อกหน้าแล้วกันเนอะ
F น้อย (รูรับแสงกว้าง) ISO สูง (ความไวแสงสูง) Shutter speed ต่ำ
การถ่ายภาพแนวนี้ เราต้องควบคุมกล้องด้วยตัวเองให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นเราต้องใช้โหมด Manual (บนกล้องจะเขียนว่า M) ควรเปิดรูรับแสงให้กว้างที่สุด f 1.8 หรือ 2.0 หรือ 2.8 จะดีมาก แต่ถ้าเลนส์ไม่อำนวย f 3.5 หรือ 4 ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน... แสงดาวมันไม่ค่อยสว่าง เราจึงต้องเปิด Shutter speed ให้นาน สัก 15วินาที หรือ 20วินาที หรือ 30วินาทีก็ได้ (ถ้าใช้เลนส์แคบๆ เช่น 20mm ไม่ควรเปิดเกิน 20วิ ถ้าใช้ 50mm ไม่ควรเปิดเกิน 30วิ ไม่งั้นดาวจะยืด (ดาวยืดคืออะไรต้องลองเองแล้วล่ะ)) ISO สูง ๆ (แต่ก็ไม่ควรสูงเกินไป) ISO สูงสุดควรอยู่ที่ 3200 หรือ 6400 (ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับรุ่นที่ใช้ บางรุ่น 12800 ภาพยังเนียนอยู่ แต่บางรุ่น 1600 ก็เละเป็นวุ้นแล้ว(สาเหตุเกิดจาก Noise หรือสัญญาณรบกวนจากการขยายสัญญาณภาพ))
โฟกัสอินฟินิตี้ (แมนน่วนโฟกัส)
เพราะดาวอยู่ไกลจากเรามาก เราเลยต้องโฟกัสที่อินฟินิตี้ (เลนส์เก่าๆ ส่วนมากจะมีเขียนไว้บนเลนส์ว่าควรใช้ตรงไหน แต่เลนส์ใหม่ๆไม่มีแล้ว) วิธีที่โฟกัสดาวให้ชัดที่สุดและง่ายที่สุด คือเปิดหน้าจอ LCD กดปุ่มแว่นขยาย และซูมไปที่ดาวที่สว่างที่สุด หลังจากนั้นค่อยๆ หมุนโฟกัสให้ดาวคมชัด (ไม่ควรใช้ auto focus เพราะกล้องส่วนใหญ่ไม่สามารถโฟกัสได้)
ถ่ายไฟล์ RAW
ข้อนี้เหมาะสำหรับคนที่ใช้โปรแกรมแต่งภาพเป็นบ้างแล้ว ไฟล์ RAW จะเก็บข้อมูลมาได้มากกว่า เวลาเราเอามาแต่ง แสง/สี จะทำให้รูปไม่แตก
White Balance
ภาพดาวส่วนมากนิยมปรับ ให้อยู่ในช่วง 3200-4800K ในกล้องอาจจะเขียนว่า Tungsten / Fluorescent เพราะจะทำให้ภาพออกสีโทนเย็น (ส่วนนี้ก็ไม่มีกฎตายตัว จะใช้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้า ณ จุดนั้น ๆ ถ่ายเป็นไฟล์ Raw แล้วมาเลือกเอาทีหลังจะดีกว่า)
ขาตั้งกล้องและฟิลเตอร์
เมื่อเราเปิดม่านชัตเตอร์นาน ๆ เราต้องหาที่วางกล้องให้นิ่ง ขาตั้งกล้องเลยเป็นอุปกรณ์หนึ่งชิ้นที่ควรใช้ แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป เราแค่ต้องการให้กล้องอยู่นิ่งๆ เพราะตั้งไว้บนเก้าอี้ วางไว้บนพื้น จริงๆ ตั้งอย่างไรก็ได้อย่าให้มันขยับเป็นพอ ส่วนฟิลเตอร์ ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เลย (ยกเว้นอยากถ่ายดาวจากในเมืองแล้วมลพิษทางแสงเยอะ light pollution filter ช่วยได้ดล็กน้อย)
ลองปรับๆ ไปเรื่อยๆ ให้ได้ค่าที่เหมาะสม (สิ่งที่ควรระวังคือ speed ไม่ควรนานเกินไปเพราะดาวจะยืด ISO ไม่ควรสูงเกินไปเพราะจะทำให้ Noise เยอะ) เพียงเท่านี้เราก็สามารถเก็บภาพดวงดาวบนท้องฟ้า ไว้ในใจ… เอ้ยย ไว้ในภาพถ่ายได้แล้วครับ!
คำถามคำตอบ
โฟกัสยังไงให้ติดดาวเยอะๆ ?
ต้องโฟกัสที่ อินฟินิตี้ (อ่านในหัวข้อด้านบนได้เลย) แต่ถ้าทำแล้วยังเห็นดาวน้อยอยู่ อาจจะเป็นเพราะสภาพท้องฟ้าไม่ดี เช่นมีแสงจันทร์รบกวน แสงไฟจากเมือง แสงพวกนี้มันจะไปกระเจิงกับละอองน้ำในชั้นบรรยากาศแล้วบดบังดวงดาวอันงดงามของเรา...
จำเป็นต้องมีขาตั้งกล้องไหม ?
ไม่! ความจริงแล้วมีไว้ก็จะสะดวกกว่า แต่ถ้าพูดถึงการถ่ายภาพดาว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้นะ.. เราสามารถหาผ้าหนา ๆ มารอง หรือจะวางไว้กับพื้นก็สามารถถ่ายดาวได้เหมือนกัน ไม่เชื่อลองดูรูปนี้สิ! เราถ่ายดาวจากบนเครื่องบินยังได้เลย!
ถ่ายดาวจากในเมืองได้ไหม ?
ตามจริงเลยก็สามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยความสามารถในการแต่งรูปค่อนข้างเยอะ วันไหนฟ้าใส เมฆน้อย ไม่มีแสงจันทร์รบกวน เราสามารถเห็นดาวจากในเมืองใหญ่ได้ แต่ถ้าจะให้ดีแนะนำให้ออกไปต่างจังหวัด ที่ที่ไม่มีแสงไฟรบกวน
สามารถหาสาถานที่ฟ้ามืด ๆ ได้ ที่นี่
เราสามารถถ่ายภาพเนบิวลาร์ได้ไหม ?
ได้! สามารถใช้กล้องทั่ว ๆ ไปถ่ายได้เลย แต่สิ่งที่ยากคือ เนบิวลาร์ส่วนใหญ่นั้นเล็กมาก และไม่ค่อยสว่าง ก่อนจะถ่ายเนบิวลาร์ อยากจะให้ฝึกการถ่ายดาวทั่วไปให้ชำนาญเสียก่อน เพราะมันยากกว่ามาก แต่ถ้าใครอยากลอง แนะนำให้ทดลองถ่ายภาพ Orion Nebula (M42) ในกลุ่มดาวนายพราน… มันเป็นเนบิวลาร์ที่ใหญ่และสังเกตุได้ง่ายที่สุด (ต้องมีสกิลดูดาวนิดหน่อยล่ะ)
Light pollution คืออะไร ?
Light pollution หรือมลภาวะทางแสง เกิดจากแสงไฟประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ส่งสว่างรบกวนความมืดมิดของกลางคืน ถ้าลองมองขึ้นฟ้าบนเมืองใหญ่ จะสังเกตุได้ว่าฟ้าไม่มืดอย่างที่เห็นในต่างจังหวัด เพราะแสงไฟจากเมืองส่องขึ้นไปสะท้อนกับเมฆ หมอก ไอนำ้ในอากาศ และกระเจิงไปทั่ว ทำให้ฟ้าสว่าง ดวงดาวเลือนหายไป
ทำไมมันยากจัง ?
“Astrophotography is perhaps the most technical kind of photography, much closer to science than arts.” ใช่ครับ เพราะการถ่ายดาวนั้นต้องใช้เทคนิคค่อนข้างมาก ไม่เหมือนการถ่ายภาพในแบบอื่น ๆ แต่ถ้าเราเข้าใจมันได้ เราก็สามารถจะใช้ความรู้นั้นสร้างสรรค์ศิลปะได้เช่นเดียวกับการถ่ายภาพรูปแบบอื่น ๆ แต่ก็อย่าเพิ่งท้อไป ลองฝึกทีละนิด หัดทีละหน่อย รับรองว่าทำได้แน่นอน!
อยู่ใกล้เมืองใหญ่ มลภาวะทางแสงเยอะ ช่วงไหน PM 2.5 เยอะ เรายิ่งเห็นดาวได้ยากขึ้น ลองเปรียบเทียบภาพด้านล่าง กับภาพแรกของบล้อกนี้ดูสิ… ทางช้างเผือกเหมือนกัน แต่ภาพที่ถ่ายได้นั้นแตกต่างกันมาก…
สิ่งที่สำคัญกว่าอื่นใดคือมุมมอง เมื่อถ่ายภาพดาวเป็นแล้ว ก็อย่าหยุดอยู่แค่นั้น
ลองมองซ้ายมองขวา อาจจะมีอะไรน่าสนใจ เมื่อนำมาประกอบภาพถ่ายแล้วทำให้รูปธรรมดา ๆ นั้นดูน่าสนใจมากขึ้น