Film Photography 101 ตอน วิธีการถ่ายภาพฟิล์มเบื้องต้น
เรื่อง และ ภาพ: เพชรภูมิ กสุรพ
หลังจากที่เราได้รู้จักกล้องฟิล์มและประเภทของฟิล์มกันไปแล้ว ในบทความ Film Photography 101 ตอน ชนิดของกล้องและฟิล์ม ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้วิธีการถ่ายภาพฟิล์มเบื้องต้น ตั้งแต่ก่อนบรรจุฟิล์ม เริ่มถ่ายภาพ..ไปจนถึงการนำฟิล์มออกมาจากกล้องเลย..
สิ่งแรกที่ควรจะเตรียมความพร้อมก่อนถ่ายภาพฟิล์ม คือ ตรวจดูว่ากล้องทำงานปกติหรือไม่? เช่น ระบบกลไกชัตเตอร์ใช้การได้หรือไม่? หากเป็นกล้องที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แบตเตอรี่หมดหรือไม่? ไฟจากแบตเตอรี่เข้าแล้วหรือยัง? ถ้าหากมีความผิดปกติตั้งแต่ต้น ควรนำกล้องไปร้านซ่อมทันที หากทำงานปกติก็เริ่มที่ขั้นตอนแรกนี้ได้เลย
บรรจุฟิล์ม
ก่อนจะบรรจุฟิล์มนั้น ควรตั้งค่าความไวแสงฟิล์ม หรือ ISO (สมัยก่อนเรียกต่างกัน เช่น DIN BSI หรือ ASA) ของตัวกล้องให้ตรงกับฟิล์มที่จะใช้ เนื่องจากกล้องฟิล์มมีความต่างจากดิจิตอลตรงที่ความไวแสงในเซ็นเซอร์ดิจิตอลมีความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนค่าได้ แต่ต้องฟิล์มนั้น ความไวแสงขึ้นอยู่กับสารเคมีในเนื้อฟิล์มซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนได้
สำหรับกล้องรุ่นหลัง สามารถเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของกล้องว่า ISO ฟิล์มม้วนนี้มีค่าเท่าใด โดยไม่ต้องปรับเอง (หมุนปุ่มค่า ISO ไปในตำแหน่ง DX สำหรับกล้องนิคคอน) ทั้งนี้ โดยปกติ เลข ISO ของฟิล์ม สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ผ่านรุ่นของฟิล์ม เช่น Kodak Ektachrome E100 คือ ฟิล์มสไลด์ ยี่ห้อ Kodak รุ่น Ektachrome ให้ ISO อยู่ที่ 100 หรือ Fujifilm Superia X-Tra 400 คือ ฟิล์มสี Negative ยี่ห้อ Fujifilm รุ่น X-Tra ให้ ISO อยู่ที่ 400
การบรรจุฟิล์มนั้น แต่ละกล้องมีวิธีการเปิดต่างกัน บ้างก็ดึงก้านกรอฟิล์มกลับ (รุ่นหลัง ๆ เช่น Nikon F4 หรือ Nikon F5 จะมีตัวล็อคอยู่ ต้องเลื่อนปุ่มปลดพร้อมดึง) บ้างก็เลื่อนปุ่มข้างฝากล้อง จากนั้นนำฟิล์มใส่เข้าไปที่ก้าน แล้วเลื่อนลงมาเพื่อเชื่อมกับส่วนบนสุดของฟิล์ม แล้วลากฟิล์มไปที่ร่องฟิล์ม (บางรุ่นจะมีจุดบอกไว้ตามภาพ) เมื่อสอดหางฟิล์มในจุดดังกล่าวแล้ว ลองหมุนก้านกรอฟิล์มเบา ๆ ถ้าหมุนขัด ๆ ไม่ค่อยไป แสดงว่าก้านเชื่อมกับกล้องฟิล์มแล้ว แต่ถ้าหมุนแรงไปมันก็จะกรอฟิล์มกลับ ถ้าหากหมุนแล้วลื่นแต่ฟิล์มไม่กรอ กลับ แสดงว่าฟิล์มยังไม่เชื่อมกับก้าน ต้องเลื่อนก้านขึ้นแล้วปรับฟิล์มให้เชื่อมกัน
หลังจากนั้นก็ต้องตรวจสอบดูว่าร่องเกี่ยวหนามเตยฟิล์มอยู่ในช่องหนามเตย (ตามวงกลมในภาพบน) แล้วหรือยัง ถ้ายังก็ปรับเล็กน้อย ทั้งนี้ ข้อระวังในการใส่ฟิล์ม คืออย่าให้มือไปสัมผัสกับม่านชัตเตอร์เด็ดขาด! เพราะอาจเกิดความเสียหายจนไม่สามารถถ่ายภาพได้
เมื่อพร้อมแล้วก็ให้ปิดฝากล้อง กดปุ่มชัตเตอร์เพื่อให้ฟิล์มเลื่อนพร้อมใช้งาน ในส่วนนี้ หากเป็นกล้องรุ่นเก่าให้เลื่อนคันโยกฟิล์ม หรือหากมี Grip กรอฟิล์มด้วยระบบไฟฟ้าอัตโนมัติ (Motor drive) ก็ให้ถ่ายไปก่อนสัก 2 – 3 ภาพ เพื่อเลื่อนฟิล์มส่วนหน้าที่ถูกแสงเข้าขณะใส่ฟิล์มออกไป ข้อระวังสำหรับกล้องบางจำพวกที่ใช้ตัวหมุนเลื่อนฟิล์มแทนคักโยก (โดยเฉพาะ rangefinder) ต้องเลื่อนคันโยกฟิล์มช้า ๆ อย่างระมัดระวัง เพราะหากแรงเกินไปอาจทำให้แกนเลื่อนภายในกล้องหักได้ และไม่สามารถเลื่อนฟิล์มได้อีก
สำหรับกล้องฟิล์มยุคหลังที่มีระบบกรอฟิล์มอัตโนมัติ ส่วนใหญ่แล้วจะเลื่อนฟิล์มส่วนที่แสงเข้าออกไปอัตโนมัติ นอกจากนี้ หากกล้องฟิล์มเป็นระบบโฟกัสอัตโนมัติ หากกดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งจะเป็นการโฟกัส แต่หากกดเต็มปุ่มจะเป็นการถ่ายภาพ
เคล็ดลับ: หากมีความชำนาญในการใส่ฟิล์มแล้ว แนะนำลองใส่ในที่มืดสนิท ปราศจากแสงลอดเข้ามา ทำให้ฟิล์มส่วนหน้าไม่ถูกกับแสง และเราจะสามารถถ่ายภาพได้เพิ่มอีกสักสองสามรูป
การถ่ายภาพฟิล์ม
การถ่ายฟิล์มนั้น การปรับค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์จะเหมือนกล้องจิติตอลแทบทุกประการ คือ เมื่อมีค่ารูรับแสงต่ำ (เลขน้อยม่านรูรับแสงกว้าง) จะทำให้ระยะโฟกัสตื้น หากโฟกัสฉากหน้า..พื้นหลังจะเบลอ และทำให้แสงเข้ากล้องมากขึ้น (ความสว่างภาพเพิ่ม) แต่ถ้ามีค่ารูรับแสงมาก (เลขมากม่านรูรับแสงแคบ) จะทำให้มีระยะชัดมากขึ้น และแสงเข้ากล้องน้อยลง (ความสว่างภาพจะลดลง) ส่วนค่าความไวชัตเตอร์ยิ่งมากก็จะจับวัตถุเคลื่อนไหวได้นิ่ง (แลกกับแสงเข้ากล้องน้อยลง) แต่หากยิ่งน้อย จะจับวัตถุเคลื่อนไหวได้ไม่นิ่ง (แต่ภาพมีความสว่างมากขึ้น)
ทั้งนี้ ค่าความไวชัตเตอร์ที่ต่ำสุดในกรณีที่ถือกล้องด้วยมือเปล่าแล้วยังพอจับวัตถุเคลื่อนไหวได้ คือ ค่าความไวชัตเตอร์ที่ตรงกับระยะของเลนส์ เช่น เลนส์ระยะ 300 มิลลิเมตร มีค่าความไวชัตเตอร์ต่ำสุด คือ 1/300 วินาที ระยะ 16 มิลลิเมตรจะมีค่าความไวชัตเตอร์อยู่ที่ 1/16 วินาที ถ้าหากต่ำว่านี้ แนะนำให้ใช้สายลั่นชัตเตอร์
เคล็ดลับ: หากใช้ฟิล์มสไลด์ถ่าย ให้เลื่อนค่าชดเชยแสงสัก -0.3 หรือ -0.5 สต็อป เพื่อเพิ่มความเข้มของภาพ แต่หากปรับให้ต่ำหรือสูงกว่านี้จะทำให้ภาพมืด (Underexposure) หรือ สว่างเกิน (Overexposed) ส่วนฟิล์ม Negative แนะนำปรับเพิ่มสัก 0.3 หรือ 0.5 สต็อป
กรอฟิล์มกลับ
เมื่อถ่ายภาพจนหมดม้วนแล้ว (โดยปกติเราจะรู้เมื่อไม่สามารถกรอฟิล์มไปข้างหน้าได้ต่อ หรือ มีไฟสัญญาณแจ้งเตือน) ให้ทำการคลายล็อกหางฟิล์ม แล้วหมุนฟิล์มกลับเข้ากลัก แต่กล้องบางรุ่น จะมีการกรอกับด้วยระบบอัตโนมัติ เมื่อกรอกลับเสร็จแล้วให้เก็บไว้ในที่ปลอดภัย ปราศจากความชื้นและร้อนจัด พร้อมนำไปส่งล้างฟิล์มต่อไป ทั้งนี้ ร้านที่รับล้างฟิล์มต่างมีต้นทุนต่ออุปกรณ์เพิ่มเติมที่ต่างกัน โดยเฉพาะเครื่องสแกนที่ยิ่งให้รายละเอียดภาพสูงและขนาดภาพใหญ่ขึ้น ก็จะมีผลต่อราคาล้างฟิล์มให้สูงขึ้นตามด้วย ฉะนั้นแล้ว ควรตรวจสอบข้อมูลของร้านที่จะล้างฟิล์มก่อนว่าภาพที่ได้จากการสแกนมีความละเอียดและขนาดภาพ เหมาะสม กับราคาที่ตั้งไว้หรือไม่
การถ่ายฟิล์มเบื้องต้นไม่ได้มีความซับซ้อนมาก แต่อาจต้องใส่ใจอย่างระมัดระวังอยู่หลายส่วน ทั้งนี้ หากสงสัยในคุณสมบัติพาะของกล้องเพิ่มเติม สามารถเข้ามาถามรุ่นพี่ที่ชมรม TUPhoto หรือถ้าหากอยู่ในกลุ่มถ่ายภาพฟิล์ม ลองสอบถามสมาชิกที่มีความรู้ด้านนี้ เพราะการแบ่งปันประสบการณ์การถ่ายภาพ จะทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างได้มากขึ้น
ขอให้สนุกกับการถ่ายฟิล์ม การเรียนรู้จากสิ่งที่พลาดเองก็ไม่ได้บาปหนาอะไร
เพราะการอาบน้ำร้อนมาก่อนจะได้รู้ว่ารอบหน้าป้องกันอย่างไร
แล้วจะแนะนำคนอื่นให้ระวังกับน้ำร้อนอย่างไรได้บ้าง