เรื่องเล่าจากแผ่นฟิล์มชุดสุดท้าย: เอื้องผึ้ง-จันผา (ตอนอวสาน)

 

เรื่อง และ ภาพ: เพชรภูมิ กสุรพ

        ยุคนี้ฟิล์มมีราคาที่สูงขึ้น ม้วนสไลด์ตัวโปรดที่ผมนิยมชมถ่ายมาตั้งแต่ปีหนึ่งกลับขาดตลาดอย่างไม่คาดคิด เพราะฟิล์มชนิดนี้ไม่ค่อยนิยมถ่ายภาพมาก ด้วยความที่คุณสมบัติที่เข้มข้น จนถ่ายยากแสนเข็ญ ผสมกับราคาที่สูงกว่าชาวบ้านเขา คงคิดว่าไม่ค่อยมีใครนิยมมาก เหลือเชื่อว่าหมดก่อนใคร ปัญหาแบบนี้ถูกถักเป็นสังกะตังทอดยาว ทั้งความเขี้ยวลากดินของพ่อค้าคนกลาง มาตรการขนส่งในยุคโควิด 19 ระบาด การผลิตที่ฝืดเคือง ทำให้การเดินทางครั้งนี้นำฟิล์มสีไปเพียงม้วนเดียว แล้วด้วยความงดงามของแม่ฮ่องสอนนั้นเอ่อล้นลามไปยังภาพฟิล์ม ทำให้ม้วนนี้หมดไปไวก่อนที่การเดินทางเราสิ้นสุดลง ผมเลยรวบรัดทั้งหมดให้จบภายในตอนนี้

ฉ่ำ

        คืนแรกมักจะนอนสบายกว่าคืนไหนเสมอ เมื่อตื่นมาในยามเช้าพร้อมฝนอ่อนขับคลอ แล้วดึงมวลอากาศให้ลอยต่ำกว่าเดิมไปอีก ความหนาวแกมสดชื้นอย่างนี้ กลายเป็นนาฬิกาปลุกชั้นดีให้เตินมาเดินทางกันต่อ เราย้อนขึ้นไปปางอุ๋ง อ่างน้ำสังเคราะห์มีไว้เก็บน้ำกลายเป็นที่เที่ยวเชิงกึ่งธรรมชาติ ดึงผู้คนทั่วสารทิศเข้ามาชมกับผืนหมอกทีกำลังเปลื้องผืนไอสีขาวบาง ๆ ลงเล่นน้ำบนแอ่งอ่างแห่งนี้ หยดฝนที่มากและเริ่มแรงยังคงต้อนรับเราขณะชงกาแฟและโกโก้อยู่บนศาลาไม้ไผ่สาน เครื่องดื่มค่อนอุ่นทำให้พวกเราคลายหนาวไปบ้าง จนเหลือเพียงแต่ความชื้นที่เกิดจากการสัมผัสผืนฝนอย่างไม่เจตนา เมื่อแสงพระอาทิตย์สว่างขึ้นหลังม่านฟ้าที่ขุ่นเหมือนกระดาษไข และฝนอ่อน ๆ ค่อยซาบางลง ทำให้เราเลือกที่จะไปซื้อเสบียงก่อนหาข้าวเช้ากิน บริเวณบ้านรักไทยและปางอุ๋ง ปรากฏชุมชนหลายชาติพันธุ์ ทั้งจีนยูนาน กะเหรี่ยง ม้ง กระจายอยู่เรื่อย ๆ และร้านค้าที่เราแวะเพิ่มเสบียงเป็นร้านของชาวม้ง ที่อยู่ข้างบ้านกะเหรี่ยง

แพไม้ไผ่ ถูดจอดเป็นราวอ่างให้หมอกมวลบางที่ลงจากดอยได้จับขณะจุ่มตัว

        ร้านหม้อไฟยูนาน อากาศแสนเย็นคงเหมาะกับน้ำแกงแสนร้อน และของกินที่ขึ้นโต๊ะอย่างหนึ่งของชาวจีนยูนานโพ้นภูเขา (เพราะหากเป็นกวางตุ้ง ไหหลำ แต้จิ๋ว หรือฮกเกี้ยน ก็จะเป็นโพ้นทะเล) คงไม่พ้นหม้อไฟ ผมเห็นครั้งแรกบนหน้าจอโทรศัพท์สี่เหลี่ยม แม้ไม่ได้รส กลิ่น และเสียงเดือดปุด ๆ แต่มันก็น่าสนใจแล้ว เมื่อมาถึงที่จริงเลยอาสาแนะนำเมนูนี้ และมติเอกฉันท์ว่าผ่าน จนถึงร้านอาหารก็สั่งเมนูขึ้นชื่อตามร้านแนะนำ อาจจะรอจนน้ำย่อยเดือดตามน้ำแกงในหม้อที่กำลังสุมไฟอยู่นานเกือบชั่วโมง กระทั่งถึงโต๊ะกลมที่ปูด้วยผ้าสีแดง ทุกคนก็กินอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แล้วก็หมดในระยะเวลาที่นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ยังไม่พ้นทางเข้าหมู่บ้าน จากนั้นก็เดินทางไปยังถ้ำปลาต่อในยามที่หัวตะวันตั้งฉากกับหนองน้ำบ้านรักไทยพอดี

        ถ้ำปลาอยู่ระหว่างถนนสายหลัก ที่นำพาร่างโคลงเคลงผ่านพันโค้งไปถึงเมืองแม่ฮ่องสอน กับถนนท้องถิ่นที่เข้าบ้านรักไทย อากาศยังคงค่อนเย็นในยามพระอาทิตย์คล้อย และมันจนควรจะร้อนเหนียวกายบ้าง แม้ขึ้นชื่อถ้ำปลา แต่ตัวถ้ำจริง ๆ เป็นช่องที่เล็กกว่าทางเข้าไปชมถ้ำภูผาเพชร จังหวัดสตูลเสียอีก ในขณะที่ปลานับร้อยตัวที่มีขนาดใหญ่พอจะอุ้มให้หลังเดาะได้ แต่สีที่ประกายเป็นโทนน้ำเงินอย่างนี้คงต้องครุ่นคิดกันใหม่อีกครั้งว่า ปลาชนิดนี้มีพิษ ไม่สามารถปรับประทานได้ และด้วนคุณสมบัติของพวกมัน เลยถูกผูกกับความเชื่อว่าเป็นปลาที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง หากกินคงไม่ปลอดภัยต่อชีวิตเรา สำหรับพื้นที่ส่วนนี้เป็นชุมชนไต๊ (တႆး) หรือที่เรารู้กันดีในนามชาวไทใหญ่ จึงมีทั้งศาล และป้ายเขียนด้วยโต๋ลิกไต๊ (တူဝ်လိၵ်ႈတႆး) หรืออักษรไทใหญ่อยู่รอบอุทยาน และยังเป็นหนึ่งในประชากรหลักของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วย

ปลาพลวง ในวนอุทยานถ้ำปลาน้ำตกผาเสื่อ

ปลาพลวงหลายตัวว่ายเข้าออกจากถ้ำ

        แม่ฮ่องสอนมีที่ท่องเที่ยงทั้งแนวธรรมชาติและธรรมมะ เมื่อเราท่องธรรมชาติแล้ว ธรรมมะก็คงจะมีบ้าง เมื่อเราทนกับโค้งที่เคี่ยวน้ำในหูจนโคลงเคลงต่ออีกหลายสิบกิโลเมตร ก็มาถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ชุมชนขนาดกลางค่อนเล็กแต่เต็มปี่ยมไปด้วยความอบอุ่น การต้อนรับด้วยความเล็ก ๆ น้อย ๆ ของขนาดเมืองนี้ทำให้ผมตกหลุมรักเพียงหนึ่งชั่วตาแรกเห็น จนเรามาถึงที่หมายแรกในเมืองแห่งนี้ คือ “จ๊องค้ำ (ၵျွင်းၶမ်း)” โดยมีความหมายในภาษาไทใหญ่ว่า “วัดทอง” นับเป็นวัดหลักในกลางเมืองแห่งนี้

วัดจองคำ หรือ จ๊องค้ำ ในเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นวัดของชาวไทใหญ่ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่แนบแน่นด้วยพลังศรัทธาของสาธุชน

อีกมุมหนึ่งของวัดจองคำ

รูปปั้นเทวดา

รูปปั้นเจ้าชายสิทธัตถะขณะออกผนวชบนประตูวิหารพระใหญ่

วิหารพระใหญ่

พวกเราแวะนั่งพักพลาง ขึ้นวิหารถ่ายภาพพลาง จนเก็บแรงที่ถูกสลัดจากทางโค้งนับพันให้พอฟื้นบ้าง จึงเดินทางไปยังจุดหมายสุดท้ายของวัน คือ “วัดพระธาตุดอยกองมู” หมายถึงวัดบนดอยที่มีเจดีย์ (လွႆၵွင်းမူး; อ่านว่า “หลอยก๊องมู้” แปลว่าดอยที่มีเจดีย์) เมื่อเราตกหลุมรักเมืองขนาดเล็กแห่งนี้จากมุมมองบนผืนดินแล้ว ที่นี่จะทำให้เราตกหลุมรักเมืองนี้จากมุมบนเขาที่มองกลวาดตั้งตั้งแต่ยอดดอยน้อยใหญ่ แล้วทอดสายตาลงมาเป็นเมืองบนผืนทุ่งระหว่างหุบเขา

บรรยากาศเมืองแม่ฮ่องสอนเมื่อมองจากยอดดอยกองมู รู้สึกตกหลุมรักทุกครั้งที่เห็น ไม่ว่ามุมใดก็ตาม

เราอยู่ที่นี่จนแสงอาทิตย์หลบหลังดอยสูง เมื่อรังสีจากดวงตะวันอาบไหล่ของดอย ทำให้เกิดเป็นแสงสีทองส่องมาแดนธรรมแห่งนี้ ได้บอกเป็นสัญญาณให้เรารีบไปที่พักที่ห่างจากที่นี่อีกหลายกิโลเมตร คือ เมืองแม่สะเรียง ที่อยู่ทางใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะการเดินทางในยามมืดที่มีเพียงไฟน้อยเสาส่องบนทางโค้งนับพัน แม้ไม่พันเกี่ยวเลี้ยวมากเท่าเส้นทางเหนือสู่อำเภอปาย แต่ก็อย่าชะล่าใจกับอันตรายจะเกิดขึ้น น่าเสียดายที่ภาพฟิล์มมาจบที่วัดพระธาตุดอยกองมูเสียก่อน จึงถูกฝากฝังไว้เป็นรอยเตือนจำให้กลับมาถ่ายใหม่ แต่หากเรื่องราวนั้นตัดจบตามม้วนฟิล์มไป จะคงขาดตอนและความรู้สึกมากมายบนเส้นทางนี้ จึงคงต้องเล่าต่อให้จบ

เวลาที่เหลืออยู่

        วันที่สามฟื้นบนเตียง หลังจากหอบสังขารที่ล่องไปตามสายน้ำจันท์เข้านอนเมื่อกลางดึก ก็หาของรองท้องจนทุกอย่างเสร็จสรรพก็ออกหาข้าวเที่ยงกิน จากนั้นก็ขึ้นน้ำตกแม่สวรรค์น้อยที่อยู่รอยต่อระหว่างแม่ฮ่องสอนกับเชียงใหม่ แม้ขึ้นชื่อว่าสวรรค์ กลับเปลี่ยนบรรยากาศเป็นนรกไปในพริบตา เพราะในฤดูฝนที่ชุกไปด้วยเหล่าทากดูดเลือดหลับใหล ที่พร้อมตื่นมาจ๊วบจ๊าบบนร่างกายเราทุกเมื่อ การเข้าชมน้ำตกแห่งนี้ก็มีเพื่อนร่วมทางเราคนหนึ่งถูกทากดูดเลือดไป ก่อนพวกเราจะพยุงร่างที่โอดโอยผ่านการทอดน่องขึ้นลงพร้อมกับหนีทากขึ้นรถยนต์ แล้วมุ่งหน้าสู่ป่าบงเปียง ที่พักของเราในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม พื้นที่แห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ และในพื้นที่อำเภอเดียวกันก็มีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวที่เคยต่อสู้เรื่องป่า จนวงคาราบาวไปทำเพลงชื่อ “ปกากะญอ (ปี2536) ” เพื่อเล่าขานตำนานผู้เฒ่าจามู แห่งมูเซคิ กับการเข้ามาของนายทุนที่ต้องการป่าไม้เป็นทรัพยากรปั้นเงิน ที่พักในคืนนี้ไม่ได้อยู่ใกล้ร้านค้า การจะซื้อของจึงเป็นเรื่องที่ลำพาก หลายครั้งที่แอพลิเคชันนำทางมักคิดว่าเป็นทางเร็วสุด โดยไม่สนว่ามันจะยากขนาดไหน ก็นำทางเราให้ลำบากใจอยู่ทุกเมื่อ ครั้งนี้ลงไปบนทางดินไต่ผา แอพลิเคชันบอกว่าไม่เกินสิบห้านาทีถึง แต่มันคงไม่รู้ว่าระยะทางที่มันน่าจะไปไม่เกินเวลานี้ ต้องลาดยางเสียก่อน

        เราเดินทางไปและกลับมาจากการซื้อของร่วมชั่วโมงกว่า ก่อนจะตั้งไฟทานมื้อเย็นเกินเวลาพอสมควร กิจกรรมยามดึกคงไม่พ้นการเล่นบอร์ดเกมส์ ส่วนผมเข้านอนด้วยอารมณ์บางอย่างที่เอ่อล้นในช่วงเวลานั้น ก่อนจะตื่นบ้างหลับบ้างเพราะเสียงเพื่อนจากห้องข้าง ๆ ทะลักเข้ามา จวบจนฟ้าสาง ผมที่ตื่นก่อนใครเข้ามาถ่ายภาพในเวลาพระอาทิตย์เลยขอบมนสุดของดอย จนเพื่อนร่วมทางคนอื่นค่อย ๆ ฟื้นขึ้นแล้วกินข้าว จัดแจงกับสัมภาระที่กระจายให้เรียบร้อย ก่อนจะแวะน้ำตกแม่ปานแล้วเข้าสู่ดอยอินทนนท์ ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดในประเทศก็ควรจะมาสักครั้ง ด้วยความที่สูงกว่าใคร แล้วแกมไปด้วยสีสันน่าชม ทำให้ดอยที่คิดว่ายิ่งสูงยิ่งไต่ยาก กลับขับรถด้วยระบบสองล้อยังไม่เป็นภาระเครื่องยนต์แต่อย่างใด ผมคิดว่ามันยังเดินทางง่ายกว่าถนนเส้นหลักที่เชื่อมจากอำเภอแม่สอดไปอุ้มผางเสียอีก ในเมื่อเวลายังเหลืออยู่มาก จึงเดินทางไปยังน้ำตกสิริภูมิ ที่เห็นมวลน้ำไหลลงกระแทกกับผืนหยาบของหน้าผาจากที่ไกลว่าสวยแล้ว หากเข้าไปใกล้คงจะสวยกว่า เมื่อไปถึงต้องเดินเรื่อยจนพบว่า ถ้าดูที่ไกล ๆ นี้แหละสวยที่สุด เพราะเหล่าทากนั้นจ้องจะผจญเราอยู่ตลอด จนมีคนเจอดีไปหนึ่งอัตรา เมื่อหนีมาถึงรถแล้วตรวจดูว่ามันเข้ามาใต้ชายเสื้อหรือกางเกงหรือไม่จนปลอดภัย ก็เดินทางขึ้นยอดดอยอินทนนท์ต่อ แน่นอนว่ายิ่งสูงก็ยิ่งหนาว ยิ่งช่วงฤดูฝน มวลความชื้นที่ต้องกับอากาศหนาวก็ยิ่งประสานตัวขึ้น เป็นไอสีขาวที่หนาตลอดยอดดอย ทำให้เราไม่เห็นอะไรเลยแม้กระทั่งหน้าของเพื่อนร่วมทางที่ห่างกันไม่เกิน 20 เมตร หลังชมยอดดอยเสร็จก็ลงมาที่ร้านกาแฟเพื่อหาเครื่องดื่มร้อน ไว้ปัดความหนาวที่เกาะกินอยู่ทั่วกายของเรา เมื่อถึงเวลาสมควร ก็ลงมาที่พักจนหมดคืนสุดท้ายของการเดินทาง

        รุ่งเช้าตื่นมาอีกครั้ง กิ่วแม่ปานจรดยอดดอยยังคงถูกห่มด้วยผืนหมอกหนาเตอะเช่นเคย เพื่อร่วมทางของเราก็ไม่น้อยหน้า หยิบยืมผ้าห่มที่หนาเตอะไปท้าอากาศบนยอดดอยอีกด้วย แต่แล้วก็ไม่ช่วยอะไรจนต้องเกาะกลุ่มเหมือนเหล่าพระสงฆ์ศาสนาคริสต์ในยุคกลางที่กำลังจะเข้าโบสถ์ตอนเช้า คราวนี้เบนเข็มไปเข้าทางเดินชมธรรมชาติข้าง ๆ คือ “อ่างกา” บ่อน้ำธรรมชาติที่เป็นชื่อเดิมของดอยแห่งนี้ ก่อนพระเจ้าอินทวิชยานนท์ หรือพระนามก่อนครองเมืองว่า “เจ้าอินทนนท์” เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้ายก่อนจะถูกรวมอำนาจเข้ากับสยาม จะตั้งพระนามของพระองค์เป็นชื่อดอยนี้แทน เมื่อวนเพื่อชมป่าในอ่างกาจนครบ ก็รีบขึ้นไปหากาแฟร้อน ๆ กินที่ร้านเดิม พร้อมกับกินโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป เพื่อคลายจากอากาศหนาวที่ผ้าห่มก็ไม่สามารถช่วยได้เต็มที่ ก่อนจะลงไปแวะพระธาตุพระมหาธาตุนภเมทนีดล และ นภพลภูมิสิริที่อยู่ระหว่างทางแล้วกลับไปยังที่พักเพื่อเก็บของ กับคืนผ้าห่มที่เตียง จากนั้นก็หาข้าวเที่ยงที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นร้านลาบชื่อสบทา มาจากการที่ร้านตั้งใกล้ริมน้ำทาที่ไปสบกับกวง ก่อนจะไปบรรจบบนแม่น้ำปิงอีกทอดหนึ่ง ร้านนี้เด็ดมาก สมคำเล่าจากริมฝีปากของรุ่นพี่คนหนึ่งที่ทำงานอยู่ลำพูน (ปัจจุบันไม่ได้ทำงานในพื้นที่นั้นแล้ว) ก่อนจะเข้าเส้นทางหมายเลข 106 ชมต้นยางที่เคยถูกขับร้องออกมาจากวงแฟรนไชส์หนึ่ง แล้วขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ

ส่งท้าย

            เมื่อวงล้อเหนือรางที่ทอดยาวมากกว่า 500 กิโลเมตรได้ส่งเราถึงหัวลำโพง ผมอยู่ที่รังสิตเป็นเวลาเดือนกว่าก่อนจะกลับบ้านด้วยเหตุจบการศึกษา ความทรงจำมากมายเป็นหลักฐานที่เหลืออยู่ในวันที่เราไม่เป็นนักศึกษาอีกต่อไปแล้ว วันวานเป็นเพียงมุขปาฐะขับขานวนอยู่ในก้อนสมองที่เรามีอยู่ แล้วถ่ายทอดเป็นบทความนี้ขึ้น และอนาคตก็เป็นเส้นทางใหม่ที่เราต้องเผชิญหน้ากันต่อโดยไม่ทราบเลยว่าจะมีอะไรต้อนรับ ก็คงปล่อยให้มันดำเนินอย่างนั้นเรื่อย ๆ แต่การจากลาเป็นเรื่องปกติ หากไม่สิ้นลมหายใจกันเสียก่อน คงจะพบกับผมในบทความใดบทความหนึ่งนอกเหนือจากพื้นที่แห่งนี้ ขอบคุณประสบการณ์และความทรงจำที่มีต่อกัน

 

 

สวัสดี

เรื่องเล่าแผ่นฟิล์มชุดสุดท้าย: เอื้องผึ้ง-จันผา


เขียน/ภาพ: เพชรภูมิ กสุรพ

เพื่อนร่วมทาง: กวิน เปตอง กี้ และคณะ (โฟโต้)

พลขับ: กวิน (โฟโต้)

ประกอบอาหาร: เปตอง (โฟโต้)

Emotional Support: แผ่นรีเฟล็กซ์

อุปกรณ์บันทึกฟิล์ม: Nikon F4s

ฟิล์ม: Kodak Ektar 100 (เนกาทีฟสี)

เลนส์
Nikon AF NIKKOR 75-300mm f4.5-5.6, Nikon 28-105mm f/3.5-4.5D AF-S, NIKKOR 50mm f/1.8G และ Nikon AF DX Fisheye-NIKKOR 10.5mm f/2.8G ED

เดินทาง: 5 – 10 มิถุนายน 2565

ล้างฟิล์ม: ปาตานีสตูดิโอ (กลางเดือนมิถุนายน 2565)

เขียนรฤกอย่างน่าใจหาย แต่การเดินทางต้องมีวันจากเพื่อรอให้พบกับเส้นทางใหม่ต่อไป แม้บทความนี้จะเป็นบทความสุดท้ายในบรรดาชุดบทความของผม บนเว็บไซต์ชมรมถ่ายภาพแห่งนี้ แต่ก็ยังไม่จบสิ้นลงบนชีวิตของผม ใครอ่านบทความนี้ก็อาจจะเห็นผมบนที่อื่นตามเส้นทางต่อ แต่ท้ายที่สุด ขอขอบคุณกวิน ตลอดเพื่อน พี่ และ น้องในชมรมถ่ายภาพทุกคน ที่ให้โอกาสและประสบการณ์กับผมตลอดสี่ปีที่ผ่านมา หวังว่าจะพบกันใหม่ ณ ที่หนึ่ง