บนถนนราษฎร์ดำเนิน ในเดือนตุลาคม

 
 

“นาย [ข้อความหายไป] ญมาก [ข้อความหายไป] เสียชีวิตที่หน้ากรมประชาสัมพันธ์และมีคนเอาธงชาติมาชุบเลือดจากศพขึ้นโบกอย่างท้าทาย”

ข้อความข้างต้นถูกเขียนอธิบายหลังรูปถ่ายเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นหนึ่งในรูปที่เราพบในห้องชุมนุมถ่ายภาพแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะกำลังเก็บของเพื่อย้ายห้องชุมนุมไปที่อาคารใหม่

หนึ่งในบทบาทของภาพถ่าย คือ การมองประวัติศาสตร์ผ่านสายตาของผู้ถือกล้อง นอกเหนือจากรูปเหตุการณ์ที่มีผู้ใช้ยกธงชาติโชกไปด้วยเลือดผู้เสียชีวิตขึ้นโบก เราสามารถมองเห็นรูปเพลิงไหม้อาคาร รูปการชุมนุมที่คับคั่งสนามหญ้าธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ รูปสิ่งพิมพ์ของนักศึกษา รูปสิ่งพิมพ์นักศึกษาและป้ายประกาศต่าง ๆ รูปทหารและตำรวจบนรถถัง รูปกลุ่มสตรีที่ดูหวาดหลัว และรูปอื่น ๆ อีกมากมาย

จากชัยชนะของนักศึกษา ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สู่ปัจจุบัน เรายังคงติดอยู่ในห้วงเวลาของความผันผวนทางประชาธิปไตย เหตุการณ์สูญเสียทั้งหลายที่เป็นอาชญากรรมโดยรัฐ ล้วนสร้างบาดแผลให้กับผู้สูญเสีย ครอบครัว มิตรสหายและประเทศอย่างไม่มีวันจางหาย และในอนาคตควรจะต้องไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีก

มาร่วมชมภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์ ที่บันทึกเหตุการณ์ ว่าเคยมีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขึ้น โดยเหล่านักศึกษา ชาวบ้าน และใครอีกหลาย ๆ คน อีกทั้งยังเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของความโหดร้ายที่อำนาจที่ไม่ชอบธรรมได้กระทำไว้ต่อประชาชน