Once in a Blue Moon

 

จันทรุปราคาเต็มดวง

ครั้งแรกที่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง

วันพุธที่ 31 มกราคม 2018

เรื่อง และ ภาพ

กวิน สิริจันทกุล

ภาพดวงจันทร์ ขณะเวลา 19.40 20.00 20.30 21.00 21.20 ตามลำดับจากซ้ายไปขวา

ปรากฏการณ์ที่ 150 ปีจะมีหนหนึ่ง แต่อย่าพึ่งตกใจไป ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีโอกาสได้เห็นจันทรุปราคาอีกแล้วในช่วงชีวิตนี้ แต่ปรากฏการณ์นี้พิเศษกว่าจันทรุปราคาทั่วไป เพราะเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่เกิดขึ้นขณะที่ดวงจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งที่ 2 ของเดือน! (คำว่า Blue Blood Moon ไม่ได้หมายความว่าสีดวงจันทร์จะเป็นสีน้ำเงินแดงแต่อย่างใด)

สาระน่ารู้ : Blue Moon หมายความว่าพระจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองในรอบเดือน Blood Moon หรือพระจันทร์สีเลือด หมายถึง จันทรุปราคา

IMG_0095.JPG

หลังจากกลับมาจากโรงเรียน ด้วยความตื่นเต้น ผมเตรียมกล้องพร้อมเลนส์เทเล จับใส่ขาตั้งกล้องเตรียมไว้ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน เวลา 18.00 น.ฟ้าเริ่มมืด พระจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้า ดวงกลมโตสีเหลืองนวลค่อย ๆ ขยับฝ่าเมฆหมอกจาง ๆ ลอยสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า “วันนี้โชคดีเนอะที่เมฆไม่ค่อยมี”

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยแห่งนี้ไม่เคยหลับใหล และผมกำลังหมายถึงความสว่างของไฟจากหลอดไฟดวงน้อย ๆ นับแสน นับล้านดวงที่ส่องสว่างจนไปรบกวนดวงดาวบนท้องฟ้า ทำให้การดูดาวหรือถ่ายภาพดวงดาวในเขตกรุงเทพ ฯ นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว แต่ยังโชคดีที่แสงจันทร์ยังพอสู้แสงไฟไหว หากเป็นดาวตกแล้วนี่อยากจะหนีออกนอกเมืองกันทีเดียว.. 

IMG_1473-1.jpg

19.00 น. ราหูเริ่มเขมือบดวงจันทร์

หลังจากที่พระจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้าราวชั่วโมงเศษ เงามืดจากโลกเริ่มขยับเข้ามาบังแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์ และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับผมแล้วนอกจากความตื่นเต้นของเงามืดที่ค่อย ๆ กัดกินดวงจันทร์ก็ยังมี รถยนต์ในซอยที่ต้องคอยหลบเนื่องจากสายไฟที่ระเกะระกะ บนท้องฟ้าจนต้องขยับหามุมใหม่ทุกทีที่พระจันทร์ขยับสูงขึ้น

20.30 น.

แสงสว่างของพระจันทร์เปลี่ยนแปลเป็นสีเลือด เงาของโลกได้บดบังแสงจากดวงอาทิตย์ทั้งหมดแล้ว เหลือไว้เพียงแสงสีแดงที่มีดัชนีการหักเหน้อยที่สุดที่หลุดลอดผ่านเข้าไปกระทบผิวดวงจันทร์ได้ “พระจันทร์สีแดงแปลกดีเนอะ” แสงสว่างที่เหลือเพียงเล็กน้อย พอที่ทำให้เห็นดวงดาวที่ซ่อนตัวอยู่ข้างหลัง เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการถ่ายภาพ เลนส์ที่ทางยาวโฟกัส 600 มิลลิเมตร นั้นไกลเกินกว่าจะเปิดสปีดชัตเตอร์นาน ๆ เพื่อรับแสงให้เพียงพอโดยที่ดวงจันทร์ไม่ขยับเขยื้อน

IMG_0086.JPG

จากแสงจันทร์ปรกติที่สามารถถ่ายได้ด้วย ชัตเตอร์สปีด 1/160 วินาที ที่ไอเอสโอ 200 ขณะนี้ต้องใช้ ชัตเตอร์สปีด 1.3 วินาที ที่ไอเอสโอ 2000

ไม่นานนัก ราหูตนนั้นก็คายพระจันทร์ออกมา

พระจันทร์สีเลือดมาและจากไปในระยะเวลาราว 1 ชั่วโมงเศษ แต่หากจะนับเพียงเวลาที่พระจันทร์เป็นสีแดงเต็มดวงก็มีเวลาเพียง 30นาทีเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้ทิ้งความตื่นเต้นและความทรงจำไว้มากมายเหลือเกิน

ในมุมของการถ่ายภาพ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นนานทีปีหน (ในที่นี้ก็คง 150 ปีหน) การเตรียมตัวที่ดีเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ สายลั่นชัตเตอร์เพื่อความนิ่งของภาพ ล้อกกระจกขึ้นก่อนแล้วจึงลั่นชันเตอร์เป็นสิ่งที่ควรกระทำ และที่สำคัญกว่านั้น เลือกถ่ายในช่วงที่ลมสงบและห้ามแตะต้องกล้องขณะถ่าย เพราะแค่ลมเพียงแผ่วเบาก็ทำให้ภาพออกมาสั่นไหวได้ครับ :)