Film Photography 101 ตอน ชนิดของกล้องและฟิล์ม
เรื่อง และ ภาพ: เพชรภูมิ กสุรพ
ตั้งแต่กลางปี 2010 ได้เกิดปรากฏการณ์ฟื้นคืนชีพของการถ่ายภาพฟิล์มอีกครั้ง จากเดิมที่ใครถ่ายฟิล์มก็มักจะมีคนถามว่า “ยังใช้อีกเหรอ?” หรือไม่ก็พูดตอนจะดูกล้องฟิล์มในมือคุณว่า “ขอดูภาพหน่อย? ... อ่าว ฟิล์มหรือ?” ก็เปลี่ยนมารู้สึกคุ้นเคย แถมยังมีคนหันมาใช้มากขึ้น บ้างก็เริ่มด้วยกล้องใช้แล้วทิ้ง (disposable film camera) หรือไม่ก็กล้องฟิล์มคอมแพคอย่างง่ายมาถ่ายรูปกัน ในขณะที่ร้านฟิล์มเจ้าเก่าก็เริ่มหันกลับมารับงาน และจำนวนไม่น้อยได้เรียนรู้วิธีล้างฟิล์มจนมีร้านใหม่ ๆ เกิดขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันที่ฟิล์มมีราคาแพงขึ้น ด้วยเพราะที่ค่าน้ำยาสูงขึ้นทำให้ค่าล้างต้องคล้อยตาม ซึ่งเกิดจากผลกระทบหลายอย่าง เช่น วัสดุผลิตเริ่มหายาก ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาในการส่งออกจากการแพร่ระบาดของโรควิด-19 อย่างไรก็ดี คนก็ยังใช้กลอ้งฟิล์มกันเยอะมาก และบทความนี้จะมาชวนผู้ถ่ายภาพฟิล์มมือใหม่มาทำความรู้จักชนิดและประเภทของกล้องฟิล์ม และฟิล์มกัน!
ชนิดของกล้องและฟิล์ม
ก่อนที่เราจะลงหลักปักฐานเรียนรู้ถ่ายภาพฟิล์มนั้น อย่างแรกที่ควรทราบ คือ ชนิดของกล้องและฟิล์มที่เราต้องการใช้ รูปแบบของการถ่ายฟิล์มนั้นมีหลากหลายมาก ทั้งขนาด สี ชนิด และ คุณลักษณะ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อภาพที่เราต้องการถ่าย รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย เพราะรูปแบบที่ต่างกันนั้นทำให้ค่าใช้จ่ายในการซื้อและล้างฟิล์มในแต่ละชนิดมีราคาต่างกัน เนื่องจากความหลากหลายมีเยอะมาก จึงขอจำแนกไปตามรูปแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ขนาดของกล้องและฟิล์ม
ทั้งกล้องและม้วนฟิล์มนั้นมีขนาดที่ต้องสอดคล้องกัน เราไม่สามารถใส่ฟิล์มในกล้องที่เป็นคนละขนาดกันได้ เว้นแต่จะมีอุปกรณ์เสริม เช่น แกนเสริมม้วนฟิล์มขนาด 135 มิลลิเมตรสำหรับใส่ในกล้องที่ถ่ายฟิล์มขนาด 120 มิลลิเมตรเป็นต้น ทั้งนี้ในปัจจุบัน ขนาดของฟิล์มที่ยังคงเหลือจากอดีตมีตั้งแต่ ฟิล์มกระจก ขนาดใหญ่ (Large format) หรือ ฟิล์มชีท, ขนาดกลาง 120 มิลลิเมตร ที่เรียกกันว่า Medium format, ขนาด 35 (135 มิลลิเมตร) ที่เรียกกันว่า Full Frame, ขนาด 110 มิลลิเมตร (หายากมาก ทั้งกล้องและฟิล์ม) และ สำเร็จรูป (Instant film)
ขนาดของฟิล์มและกล้องถ่ายภาพนี้ยิ่งมีขนาดใหญ่ ก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งค่าตัวฟิล์ม กล้อง ล้าง และ สแกน หรือ อัดขยาย ในขณะที่จำนวนภาพฟิล์มที่ถ่ายนั้นก็มีจำนวนที่ต่างกัน ส่วนใหญ่แล้วคนมักนิยมในกล้องขนาดกลาง และ Full Frame มากกว่า ด้วยเหตุผลทางด้านน้ำหนักและความสะดวกต่อการพกพาไปถ่ายภาพ โดยที่ขนาดกลาง หรือ 120 มิลลิเมตรนั้นสามารถถ่ายได้มากสุด 12 รูป (ในอดีตบางฟิล์มสามารถถ่ายได้ 24 รูป แต่ไม่ค่อยพบในปัจจุบัน) และขนาด Full Frame หรือ 35 มิลลิเมตรนั้นสามารถถ่ายได้ 36 รูป (และบางม้วนก็ถ่ายได้แค่ 27 รูป)
นอกจากกล้องฟิล์มที่มีขนาดดังกล่าวแล้ว ยังมีกล้องฟิล์มอีกรูปแบบหนึ่งที่หั่นเฟรมขนาด 35 มิลลิเมตร ให้แบ่งเป็นสองรูป คือ กล้องครึ่งเฟรม หรือเรียกว่า Half frame (ซึ่งในปัจจุบันขนาดเท่ากับเซ็นเซอร์ 4:3 หรือ ไมโคร 4:3 ของกล้องถ่ายภาพดิจิตอล) ด้วยการแบ่งเฟรมออกเป็นครึ่งหนึ่ง ทำให้เพิ่มจำนวนถ่ายภาพฟิล์มไปอีกสองเท่า คือ จากเดิมที่เป็น 27 หรือ 36 จึงมาเป็น 54 หรือ 72 รูป แต่ก็แลกมากับขนาดของภาพที่เล็กลงเหลือครึ่งหนึ่งจากเฟรมเดิม
ลักษณะกล้องฟิล์ม
นอกจากขนาดของฟิล์มที่ใส่ในกล้องแล้ว กล้องฟิล์มเองก็มีลักษณะต่างกันไป
ลักษณะฟิล์ม
ฟิล์มถ่ายภาพนี้ให้สีอยู่สองแบบ คือ แบบสี และขาวดำ โดยรูปแบบของตัวสีนั้นมีแบบสลับสี และ สไลด์
ฟิล์มสลับสี หรือเรียกกันว่า Negative film คือฟิล์มที่เมื่อถ่ายออกมาแล้ว สีบนแผ่นฟิล์มจะเป็นสีที่ตรงข้ามกับภาพที่เราเห็น สมัยก่อนจะมีการสแกนฟิล์มจึงใช้การอัดขยาย เพื่อฉายภาพสีตรงข้ามฟิล์ม (ภาพที่มีสีใกล้เคียงกับที่มองเห็น) แล้วทำการใช้น้ำยาเคมีในการอัดภาพขึ้น ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่นิยมเท่ากระบวนการสแกน โดยการสแกนนั้นใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สลับสีมาใกล้เคียงกับภาพที่เรามองเห็นมากที่สุด แล้วนำไปพิมพ์บนเครื่องพิมพ์
ฟิล์มสไลด์ หรือเรียกกันว่า Positive film ฟิล์มประเภทนี้ให้ภาพที่ใกล้เคียงกับที่เราเห็นจริง ๆ กล่าวคือ เมื่อทำการล้างฟิล์มแล้ว ภาพจากเนื้อฟิล์มจะเป็นสีตรง ไม่ได้สลับสี อีกทั้งยังมีรายละเอยดของสี ความเข้มของภาพ และเงาที่สูงมาก ในอดีตนั้นใช้นำเข้าเครื่องพิมพ์ เป็นงานในระดับสูงขึ้น เช่น โปสเตอร์ ปกอัลบั้มเพลง หนังสือ รวมถึงการเข้าเครื่องฉายไสลด์โดยตรง โดยไม่ต้องใช้กระบวนการสลับสี
อย่างไรก็ดี ข้อดีข้อเสียของทั้งสองแบบล้วนมีความต่างกัน ฟิล์มแบบสลับสีนั้นจะให้ความยืดหยุ่นของแสงเงาได้มากกว่าฟิล์มสไลด์ หมายความว่าถ้าหากถ่ายฟิล์มสไลด์ในที่มีระดับแสงคลาดเคลื่อนจากค่ากล้องที่ตั้งไว้ (ตั้งค่ากล้องไม่พอดีกับปริมาณแสง) รูปนั้นก็อาจจะเสียไปเลย นอกจากนี้ การ push (กระบวนการล้างฟิล์มที่ถ่ายมามืดเกินไปให้เป็นภาพที่พอดี) หรือ pull (กระบวนการล้างฟิล์มที่ถ่ายมาสว่างเกินไปให้เป็นภาพที่พอดี)ฟิล์มนั้น แบบสลับสี (Negative film) สามารถทำได้มากกว่าสไลด์ (มีความยืดหยุ่นสูง) การสแกนฟิล์มนั้น เมื่อสแกนเสร็จแล้วเราจะยังไม่ได้เป็นไฟล์ภาพพร้อมใช้งานทันที ต้องมี การแต่ง สี แสง เงา เพื่อให้ใกล้เคียงกับบนเนื้อฟิล์มที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้นแล้ว บางคนที่มีคำถามคาใจว่าหาก เอาภาพฟิล์มไปแต่งต่อจะผิดหรือไม่? คำตอบ คือ มีการแต่งมาก่อนอยู่แล้ว หากจะแต่งอีกก็คงไม่ผิดอะไร..
นอกจากลักษณะสีของฟิล์มแล้ว ยังมีรูปแบบของฟิล์มที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวด้วย คือ มีฟิล์มภาพนิ่ง และ เคลื่อนไหว โดยที่ฟิล์มเคลื่อนไหวหรือที่เรารู้จักกันดีในนามของ “ฟิล์มหนัง” คือฟิล์มที่มีหลายเฟรมอยู่ในม้วนเดียวกัน และมีคาร์บอนเคลือบเนื้อฟิล์มเพื่อเวลาทำการถ่ายภาพเคลื่อนไหว จะช่วยลดความร้อนจากการเสียดสีของฟิล์มที่ต้องเคลื่อนเร็วมาก ทำให้การล้างฟิล์มชนิดนี้จึงต้องทำการล้างคาร์บอนเคลือบผิวฟิล์มออกก่อน จึงจะล้างต่อได้ เมื่อฟิล์มชนิดนี้ถูกตัดบรรจุลงฟิล์มภาพนิ่ง จะต้องมีการตัดลงกรักฟิล์ม แน่นอนว่าข้อมูลบนกรักฟิล์มไม่ได้ตรงกับเนื้อฟิล์มถูกบรรจุลงไป จึงต้องแจ้งร้านฟิล์มก่อนทุกครั้งว่าเป็นฟิล์มหนัง นอกจากฟิล์มทั้งสองชนิดแล้ว ยังมีบางฟิล์มที่สามารถอัดเสียงได้อีกด้วย!
ท้ายสุดในส่วนนี้ หากใครต้องการนำฟิล์มบูด หรือ ฟิล์มที่หมดอายุมาก ๆ ไปล้าง ข้อสำคัญสุด ๆ คือ ต้องแจ้งทางร้านทุกครั้ง เนื่องจากฟิล์มบูดมีความเหม็นและอื่น ๆ อีกมาก หากนำมาล้างด้วยกันอาจจะทำให้สารที่มาจากฟิล์มไปสร้างปัญหากับม้วนอื่น ๆ ได้ และด้วยปัญหานี้ บางร้านจึงตัดสินใจไม่รับล้างฟิล์มบูดอีกด้วย
นอกจากนี้ หากฟิล์มหมดอายุใหม่ ๆ ก็สามารถนำไปแช่ตู้เย็นเพื่อยืดอายุการใช้งานของมันได้ในระยะชั่วคราว ฟิล์มที่ยังไม่หมดอายุก็สามารถที่จะนำไปแช่ตู้เย็นได้เช่นกัน ข้อระวังอีกอย่างคือ ฟิล์มบางชนิดไม่สามารถถูกรังสีเอ็กซ์ได้ (X-ray) เพื่อความแน่ใจ หากเดินทางด้วยเครื่องบิน ควรแจ้งพนักงานตรวจภายในสนามบินว่ามีฟิล์มถ่ายภาพ แล้วทางเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจเฉพาะ โดยที่ไม่มีผลกับเนื้อฟิล์ม
…ในบล้อกต่อไป เราจะมาเรียนรู้วิธีถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มกันครับ!